sophism on goodness ความดีของลัทธิซาฟเฝิสม์
ผู้แต่ง : เอนก สุวรรณบัณฑิต
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
ลัทธิซาฟเฝิสม์ (Sophism) เป็นลัทธิเดียวในยุคโบราณที่อยู่ฝ่ายอัตวิสัยนิยมทางจริยศาสตร์ (subjectivism) คือ ถือว่าไม่มีมาตรการแน่นอนตายตัวสำหรับตัดสินความประพฤติดี ดังที่เผรอแทกเกอเริส (Protagoras ก.ค.ศ. 480?-410?) เจ้าลัทธิคนหนึ่งแถลงเป็นสูตรไว้ว่า“Man is the measure of all things.” (คนเป็นมาตรการวัดทุกสิ่ง) นั่นคือ คนแต่ละคนเป็นมาตรการวัดความประพฤติของตนเอง ใครชอบอย่างไรก็ให้ทำอย่างนั้น นั่นเรียกได้แล้วว่าเป็นความประพฤติดีเฉพาะตัวของผู้นั้น คนอื่นไม่ชอบก็อย่าทำ ให้เลือกทำอย่างอื่นที่ตนชอบเสีย ความเลวของมนุษย์อยู่ที่ต้องจำใจทำสิ่งที่ตนเองไม่ชอบ นี่คือสิ่งที่ทุกคนควรหลีกเลี่ยงอย่างที่สุด
เหตุผลที่ทำให้ลัทธินี้คิดว่ามาตรการที่มีอยู่แล้วล้วนแต่เป็นอัตวิสัยทั้งสิ้นก็คือ จากการท่องเที่ยวสังเกตดูประเพณีและหลักธรรมของชนชาติต่าง ๆ ปรากฏว่ามีความขัดแย้งกันอยู่มาก ความประพฤติอย่างเดียวกันแท้ ๆ ชนชาติหนึ่งถือว่าเป็นบุญ อีกชนชาติหนึ่งอาจจะถือว่าเป็นบาปก็ได้ เช่น การฆ่าเด็กพิการ เป็นต้น
ส่วนเหตุผลทางปรัชญาก็สืบเนื่องมาจากญาณปรัชญาของลัทธินี้นั่นเอง ที่คิดว่ามนุษย์มีโครงสร้างของสมองไม่เหมือนกัน แต่คนต่างคิด ต่างคนต่างใช้สมองคิดตามโครงสร้างของแต่ละคนความจริงที่ได้มาจึงต่าง ๆ นานา
ความคิดแบบนี้อาจจะเกิดขึ้นกับใครเมื่อใดก็ได้ โดยไม่จำเป็นจะต้องรู้หรือยอมรับสังกัดอยู่ในลัทธินี้