Sophism on deconstruction การรื้อทำลายของลัทธิซาฟฟิสม์
ผู้แต่ง : เอนก สุวรรณบัณฑิต
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
ดิมาเครอเทิสได้กำหนดหลักการแม่บท (first principle) และได้สร้างระบบความรู้โดยเขียนตำราเรื่องต่าง ๆ ถึง 70 เล่ม น่าจะมากกว่างานเขียนของเพลโทว์และแอเริสทาเทิลรวมกัน แต่น่าเสียดายที่เราไม่มีหนังสือเหล่านั้นให้ประเมินค่า มิฉะนั้นอาจจะเป็นระบบความคิดคู่แข่งกับเพลโทว์และแอเริสทาเทิลอย่างน่ากลัวก็ได้ แต่ก็หมดหวัง เพลโทว์และแอเริสทาเทิลเด่นลอยฟ้าได้โดยไร้คู่แข่ง นอกจากจะแข่งกันเอง แต่ก็ไม่แข่งกันจริงจัง ดูเหมือนว่าจะแข่งขันกันในบางขณะ แต่แล้วก็เสริมกันเสียมากกว่า
ซาเครอทิสเป็นอาจารย์ของเพลโทว์ เพลโทว์เป็นอาจารย์ของแอเริสทาเทิล ทั้งสามท่านมีความเห็นร่วมกันว่าหลักการแม่บทของความคิดแบบกรีกหรือวจนศูนย์นิยม (logocentrism) นั้น ไม่ใช่อยู่ที่ว่าความเป็นจริงคืออะไร แต่อยู่ที่ว่าเราเข้าใจความเป็นจริงอย่างไร ตรงนี้ต้องกำหนดให้ชัดเจน เมื่อกำหนดได้แล้วจึงค่อยกำหนดว่าความเป็นจริงคืออะไร เมื่อใช้วิธีคิดที่ถูกต้องแล้ว ความรู้ก็จะเพิ่มได้เรื่อย ๆ จนกว่าจะสมบูรณ์ รู้แค่ไหนก็จริงแค่นั้น จะสมบูรณ์แล้วหรือยัง ไม่สำคัญ สำคัญอยู่ว่ารู้แค่ไหนก็จริงแค่นั้นและอาจจะหาความจริงเพิ่มขึ้นได้เรื่อยไปถ้ายังมีเนื้อหาให้หา ก็ให้หาเพิ่มเรื่อยไป ความรู้ใหม่ไม่ล้างความรู้เดิม หากแต่เพิ่มเติมเนื้อหาให้ครบถ้วนยิ่ง ๆ ขึ้น
ในสมัยที่เอเธนส์กำลังรุ่งโรจน์เป็นผู้นำแห่งความเจริญของชาวกรีกอยู่นั้น ก็มีผู้สอนปรัชญาเป็นอาชีพเกิดขึ้น เพราะมีอุปสงค์ (demand) มาก อุปทาน (supply) ก็ตอบสนองตามความต้องการของลูกค้า ผู้สอนได้ถูกใจ มีผู้นิยมเรียนด้วยมากก็จะได้ค่าสอนสูง อาจารย์เหล่านี้ได้ชื่อว่าซาฟิสท์ (ในความหมายของคุรุ คือผู้มีความรอบรู้) ซาฟิสท์บางคนจึงลงทุนเดินทางไปหาความรู้จากแดนไกลเอามาสอน และต้องพยายามสร้างราคาให้กับตนเองโดยดูถูกผู้อื่นว่าไม่รู้หรือรู้ไม่จริง พวกเขารู้ว่าหากสอนถูกใจนักการเมืองที่ต้องการหาคะแนนนิยม ก็จะได้ค่าตอบแทนเป็นกอบเป็นกำ จึงชอบอ้างว่าตนได้เดินทางหาความรู้มามาก มีประสบการณ์ต่างแดนมามาก ครั้นเทียบความเชื่อถือของแดนต่าง ๆ กันแล้วก็สรุปได้ว่าไม่มีความจริงใดตายตัว แล้วแต่ใครจะเชื่อว่าเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น การปฏิบัติอย่างเดียวกันในเมืองหนึ่งอาจจะได้รับรางวัล แต่ในอีกเมืองหนึ่งอาจจะได้รับโทษ และอีกเมืองหนึ่งอาจจะเห็นเป็นเรื่องตลกไร้สาระ เอาแน่อะไรไม่ได้ ดังนั้นทำอะไรได้ประโยชน์ก็ทำไปเถอะ ให้โทษเมื่อใดก็อย่าทำ เชื่อสมองตามสัญชาตญาณของตนเองแหละดีที่สุด จะผิดจะถูกอย่างไรก็ไม่ขาดทุน เพราะสมองของมนุษย์เรามีโครงสร้างไปคนละแบบไม่เหมือนกัน ใครคิดว่าอะไรดีมีประโยชน์ก็ดีสำหรับคนนั้น คนอื่นไม่เกี่ยว
ข้างต้นนี้เป็นหลักการแม่บทสำหรับคุรุในสมัยนั้น แน่นอนว่าถูกใจนักการเมืองของกรุงเอเธนส์ในสมัยนั้นที่ริอ่านปกครองแบบประชาธิปไตยเต็มใบ ลาภยศสรรเสริญได้มาโดยการโฆษณาหาเสียงให้ประชาชนนิยม หลักการนี้สามารถนำประยุกต์ใช้ได้กับทุกเรื่อง อธิบายเรื่องใดก็ได้ทั้งสิ้น นักการเมืองชอบ นักการเมืองที่มีเงินทุ่มซื้อตัวจะคอยสัมปทานคุรุซาฟิสท์ที่ยอด ๆ ไว้ก่อน โดยสัมปทานเรียนรู้คนเดียว จ่ายไม่อั้น สงวนลิขสิทธิ์ไม่ให้สอนคนอื่น รู้เคล็ดลับไว้คนเดียว คนอื่นจะได้ตามไม่ทัน ไล่ไม่จน
ก็นับว่าเป็นวิธีคิดอีกแบบหนึ่ง เป็นความคิดของชาวกรีกแต่ไม่ใช่แบบกรีกตามที่นิยมกัน เป็นอีกแบบหนึ่งต่างหากที่เป็นคู่แข่งกับความคิดแบบกรีก และเป็นแบบที่ไม่เริ่มหลักการแม่บทจากความเป็นจริง แต่เริ่มจากวิธีคิด และเชื่อว่าความคิด ความเป็นจริง และภาษาต่างก็มีความหมายของตน ไม่จำเป็นต้องตรงกัน ตีความลงสู่รูปธรรมได้ว่า ในเมื่อคนเราคิดต่าง ๆ กัน ความเป็นจริงย่อมจะไม่แน่นอน และภาษาก็ย่อมจะใช้สื่อตามความต้องการของผู้สื่อ เรื่องเดียวกันผู้สื่อต้องการสื่อให้เป็นดำก็จะเป็นดำ จะสื่อให้เป็นขาวก็จะเป็นขาว นี่คือความคิดแบบซาฟิสท์ที่ได้รับการยกย่องว่า เป็นคุรุของนักการเมืองที่เล่นการเมืองเพื่อประโยชน์ส่วนตนของเอเธนส์ในขณะนั้น ผลก็คือรวมหัวกันลงคะแนนประหารชีวิตซาเครอทิส เพราะมีความรู้เท่าทันคุรุซาฟิสท์ทั้งหลายและไม่ยอมรับเงินค่าสอน ไม่ยอมให้ใครสัมปทานสงวนสิทธิ์ได้ นอกจากนั้นยังชอบแฉอะไรต่อมิอะไรตรงไปตรงมาอย่างไม่เกรงกลัวอิทธิพลของใครทั้งสิ้น ที่ร้ายกว่าอะไรทั้งหมดก็คือพวกหนุ่ม ๆ ชอบสนับสนุน และดูจะอยากเอาอย่างโดยลองซักถามประเด็นที่นักการเมืองเอเธนส์ไม่อยากตอบ คุรุอย่างนี้พรรคการเมืองที่ครองอำนาจในเอเธนส์ขณะนั้นไม่ต้องการประมูลซื้อตัว แต่ต้องการขจัดไม่ให้เหลือแม้แต่เงา