Socrates ซาคเขรอถิส
ผู้แต่ง : เอนก สุวรรณบัณฑิต
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
ซาคเขรอถิสเป็นชาวเอเธนส์ และอยู่ในกรุงเอเธนส์ตั้งแต่เกิดจนตาย ในช่วงชีวิตของซาคเขรอถิส กรุงเอเธนส์กำลังรุ่งโรจน์ถึงขีดสุด ประชาชนกำลังภูมิใจในการปกครองแบบประชาธิปไตยของตน และในขณะเดียวกันพรรคการเมืองต่างๆ กำลังแข่งขันชิงตำแหน่งหน้าที่กันอย่างสุดเหวี่ยง นักปรัชญาซาฟเฝิสท์ (sophist) กำลังได้รับการยกย่องว่าช่วยชาวเอเธนส์ให้พ้นจากความงมงาย บรรลุถึงวิจารณญาณ (critical mind) ผลที่ได้รับจากคำสอนของสำนักซาฟเฝิสท์ก็คือ ประชาชนพากันสงสัยทุกอย่าง นับตั้งแต่ความเชื่อถือทางศาสนา ศีลธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี กฎหมาย ตลอดลงมาจนถึงการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
ปัญญาชนส่วนมากพอใจกับคำตอบของสำนักซาฟเฝิสท์ ที่ว่า ความรู้สึกชอบของแต่ละคนเป็นมาตรการสำหรับตนเอง เพราะเห็นว่าให้เสรีภาพทางความคิดเหมาะสมกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่ซาคเขรอถิสกลับเห็นว่าเสรีภาพอย่างเลยเถิดเช่นนี้เป็นจุดบอดของประชาธิปไตย เพราะจะเปิดโอกาสให้คนเราเอารัดเอาเปรียบกันอย่างเสรีด้วย คนฉลาดจะใช้ช่องโหว่ของกฎหมายเอาเปรียบคนโง่ได้อย่างเสรี คนมีตำแหน่งหน้าที่จะใช้เล่ห์เหลี่ยมหลอกลวงเพื่อเอาเปรียบประชาชนได้อย่างเสรี ในที่สุดความหายนะจะตามมา เพราะคนเอาเปรียบกัน จะแข่งขันกันเอาเปรียบจนลืมนึกถึงความปลอดภัยของสังคม คนถูกเอาเปรียบครั้นรู้ตัวเข้าก็จะรวมตัวกันฮึดสู้ ประชาธิปไตยจะถึงจุดจบ
ความห่วงใยต่อสวัสดิภาพของนครรัฐเอเธนส์กระตุ้นให้ซาคเขรอถิสขบคิดว่าสังคมจะอยู่ได้อย่างไร ท่านตอบว่าสังคมจะอยู่ได้ต้องมีความยุติธรรม ถามต่อไปว่าความยุติธรรมจะมีได้อย่างไร ท่านตอบว่าความยุติธรรมจะมีได้ โดยมีมาตรการเดียวกันสำหรับตัดสินความจริง และความดีแต่เพราะคนเรามีกิเลสต่าง ๆ กัน ใครมีกิเลสแบบไหน กิเลสแบบนั้นจะจูงใจให้เห็นดีเห็นชอบไปทางนั้น หากตัดกิเลสเสียได้ คนเราจะคิดได้ตรงกันเพราะโครงสร้างสมองของมนุษย์เราเหมือนกันทุกคน แต่กิเลสไม่เหมือนกัน ดังนั้น ถ้าตัดกิเลสแล้วตรึกตรองจะคิดได้ตรงกันทุกคน ความรู้ที่ได้จากการตรึกตรองในขณะไม่มีกิเลสนั่นแหละคือความจริงมาตรฐานและสากล จึงต้องฝึกสมาธิให้กิเลสเบาบางลงทุกวันจนหมดสิ้นและฝึกการเพ่งพินิจ (contemplation) หลังฝึกสมาธิและเพ่งพินิจแต่ละขั้นตอน ให้หาโอกาสถกปัญหากับคนอื่นเพื่อขัดเกลาความเข้าใจของตนเอง จะได้ฝึกสมาธิและเพ่งพินิจในครั้งต่อ ๆ ไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ผู้ที่มีสมาธิแน่วแน่จนหมดกิเลสแล้วควรเพ่งพินิจหาความจริงมาสอนผู้อื่น ใครก็ตามที่ไร้กิเลสและทำการเพ่งพินิจจะพบความจริงตรงกัน โดยไม่ต้องปรึกษาตกลงอะไรกันเลย ผู้ใดที่ยังไม่ถึงขั้นก็ให้เชื่อฟังผู้ที่ถึงขั้น และหมั่นฝึกฝนจนบรรลุถึงด้วยตนเอง จะได้เป็นที่พึ่งของผู้อื่นต่อไป ความคิดเช่นนี้จะก่อให้เกิดลัทธิมโนคตินิยม(idealism) ของเพลโทว์ในอันดับต่อไป