second paradigm in China กระบวนทรรศน์ที่ 2 ในจีน
ผู้แต่ง : เอนก สุวรรณบัณฑิต
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
เผาตำราเพื่ออนุรักษ์อวิชชา
มีหลักฐานว่ามีชุมชนดึกดำบรรพ์ใช้แผ่นดินจีนเป็นที่อยู่อาศัยนับตั้งแต่ 350,000 ปีเป็นต้นมา แต่พวกเขามีชีวิตอยู่แบบดึกดำบรรพ์ ตั้งแต่พระเจ้าชางว่างตี่ (Shang) ก่อตั้งราชวงศ์แรกขึ้นในปี ก.ค.ศ.1750 จึงมีการบันทึกที่แสดงว่าชาวจีนเข้าถึงกระบวนทรรศน์ที่ 2 ระยะสัญลักษณ์ (symbolic) ขงจื๊อ (ก.ค.ศ.551-479) สอนให้ชาวจีนพัฒนากระบวนทรรศน์ที่สองขึ้นเป็นระยะวิชาการ (academic) หลักเกณฑ์พื้นฐานที่ขงจื๊อวางไว้สำหรับการพัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์ก็คือ “ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน” ซึ่งต่อมากษัตริย์จีนที่ต้องการพัฒนาชาติใช้เป็นหลัก จนมีธรรมเนียมเปิดสอบคัดเลือกบุคคลทั่วไปเข้ารับราชการตามความรู้ความสามารถ จนถึงขั้นเป็นจอหงวนและแม่ทัพ
กษัตริย์จีนองค์แรกที่สนใจใช้ปรัชญาของขงจื๊อพัฒนาประเทศอย่างจริงจังได้แก่ จักรพรรดิจิ๋นซีฮ่องเต้ (Chin Shih Huang-tiก.ค.ศ.259-210) รวบรวมอาณาจักรจีนตั้งตนเป็นจักรพรรดิจีนองค์แรก ใช้หลักการของขงจื๊อเปิดโอกาสให้แข่งขันความสามารถกันเพื่อหาคนดีมีความสามารถเข้ารับราชการ จัดการสร้างถนน ขุดคลอง และริเริ่มสร้างกำแพงใหญ่ สร้างเมืองหลวงที่ซีอาน ออกตระเวนตรวจตราแผ่นดินเพื่อดูแลทุกข์สุขของประชาชน เกิดความขัดแย้งกับศิษย์สำนักขงจื๊อ ที่ปรึกษาลี่ซูจึงแนะนำให้สั่งเผาตำราทั้งหมดทิ้งในปี ก.ค.ศ.213 นอกจากตำรากฎหมาย ตำรายา และตำราการเกษตร
อย่างไรก็ตาม ปรัชญาของขงจื๊อยังคงเป็นหลักชีวิตสังคมของจีนต่อมา และเพื่อความปลอดภัยจิตตารมณ์อนุรักษ์ก็ครอบงำจิตใจของชาวจีนต่อมาเป็นเวลานาน แม้จะผนวกคำสอนอื่นเช่นลัทธิเล่าจื๊อ พุทธศาสนามหายาน ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม หลักการของขงจื๊อยังคงเป็นหลักยึดเหนี่ยวตลอดมา จนถึงสมัยเหมาเจ๋อตุงปฏิวัติวัฒนธรรม บัดนี้รัฐบาลจีนมีนโยบายรื้อฟื้นปรัชญาของขงจื๊อเป็นการใหญ่
ชาวจีนโบราณมีคำถามเกี่ยวกับเทพเจ้าอย่างไรต่อจากยุคดึกดำบรรพ์นั้น ไม่สู้จะมีหลักฐานเด่นชัด แต่คำถามที่ชาวจีนโบราณสนใจเป็นพิเศษ ได้แก่ คำถามว่า เราจะอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขในสังคมได้อย่างไร ปรากฏตามคัมภีร์ที่ขงจื๊อรวบรวมไว้ว่า ชาวจีนโบราณแสวงหาความกลมกลืนในสังคมด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่กันอย่างคนในวงญาติ ความยุติธรรมเป็นมาตรการป้องกันการเบียดเบียนและเอาเปรียบซึ่งกันและกัน การนับถือกันตามลำดับญาติและตำแหน่งหน้าที่ในสังคมเป็นมาตรการป้องกันการเบียดเบียน และส่งเสริมความโอบอ้อมอารีเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่กัน ลัทธิเต๋าแสวงหาความกลมกลืนกับธรรมชาติ ส่วนพระพุทธศาสนามหายานแบบจีนก็แสวงหาความกลมกลืนกับลัทธิเต๋าและลัทธิขงจื๊อ