second paradigm and sacrifice กระบวนทรรศน์ที่ 2 กับการเซ่นสังเวย
ผู้แต่ง : เอนก สุวรรณบัณฑิต
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
ชาวคริสต์ ประทับใจในความเสียสละของพระเยซูคริสต์ผู้ยอมมอบชีวิตให้ผู้ประสงค์ร้ายปลิดพระชนม์ชีพบนไม้กางเขน เป็นการหลั่งเลือดสิ้นชีวิตจริง ถือเป็นการเสียสละเพื่อไถ่บาปมนุษย์ ชาวคริสต์ถือว่าการยอมรับความตายของพระเยซูเป็นพยานยืนยันถึงการเสียสละตน เพื่อปฏิบัติตามน้ำพระทัยของพระเจ้าได้ดีกว่าการฆ่าสัตว์บูชายัญ เพราะสัตว์ไม่ได้ยินยอม และสัตว์จำนวนมากเท่าใดก็ยังมีค่าน้อยกว่าพระเยซูองค์เดียวมากมายนัก ชาวคริสต์จึงได้ประกอบพิธีมิสซาและพิธีศีลมหาสนิทเป็นสัญลักษณ์ถึงความเสียสละดังกล่าวมาจนตราบเท่าทุกวันนี้
ชาวมุสลิมถือว่าไม่มีใครเสียสละแทนใครได้ แต่ละคนจะต้องเสียสละถวายแด่พระเจ้าด้วยความสมัครใจของตนเอง โดยการปฏิบัติตามบทบัญญัติของเพระเจ้าอย่าเคร่งครัด
ชาวพุทธถือว่าการเสียสละที่เกิดผลนั้นต้องมุ่งพัฒนาตนโดยตรง โดยไม่ต้องมุ่งหวังให้ใครเห็นใจมาช่วยกำหนดวิถีชีวิตให้ ตนของตนเป็นที่พึ่งของตนเอง ไม่มีใครช่วยทำแทนกันได้ ทำได้อย่างมากก็แนะนำวิธีและให้กำลังใจเท่านั้น แต่ทั้งนี้ก็ย่อมหมายความอยู่ในตัวว่าการพัฒนาตนย่อมส่งผลถึงการพัฒนาผู้อื่นด้วยโดยอัตโนมัติ อย่างปัจเจกพุทธเจ้า แม้จะไม่ทรงสอนโดยตรง แต่บารมีและตัวอย่างก็สอนอยู่แล้วโดยไม่ต้องสอนด้วยคำพูด