Scotus, John Duns จอห์น เดินส์ สคาเทิส
ผู้แต่ง : กันต์สินี สมิตพันธ์
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
จอห์น เดินส์สคาเทิส (John Duns Scotus 1265-1308)เป็นชาวสกอตตระกูลเดินส์ เข้าถือพรตในคณะแฟรงเสิสเคินในปี ค.ศ. 1278 (หลังมรณกรรมของอไควเนิส 4 ปี) เรียนที่ออกซ์ฟอร์ดและปารีส สอนที่ปารีส ออกซ์ฟอร์ด เคมบริดจ์ และโคโลญ สคาเทิสศึกษาและสอนในบรรยากาศที่มีการถกเถียงกันอย่างรุนแรงระหว่างผู้สนับสนุนและคัดค้านอไควเนิส ผู้สนับสนุนย่อมเห็นด้วยกับการใช้ปรัชญาของเอเริสทาเทิลและอรรถกถาของเอเวอร์เซนเนอมาช่วยอธิบายคริสต์ศาสนา ส่วนผู้คัดค้านย่อมเห็นว่าปรัชญาของเพลโทว์และของออเกิสทีนย่อมเพียงพอแล้ว ปรัชญาของเอเริสทาเทิลและของเอเวอร์เซนเนอทำให้ไขว้เขวยิ่งกว่าจะให้ความกระจ่าง สคาเทิสมีปัญหาว่าจะสร้างระบบความคิดขึ้นมารใหม่อย่างไรให้ลึกซึ้งกว่าทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งนี้โดยใช้ส่วนดีจากทั้ง 2 ฝ่ายสร้างระบบใหม่ โดยหวังว่าเมื่อทั้ง 2 ฝ่ายติดใจในระบบใหม่นี้แล้วก็จะเลิกทะเลาะกัน สคาเทิสจึงได้วิเคราะห์ความหมายของศัพท์ปรัชญาอย่างละเอียดลออ และวิจารณ์ทั้ง 2 ฝ่ายอย่างสุขุม เพื่อตัดสินใจเลือกแนวทางใหม่ที่คิดว่าจะลึกซึ้งจนทุกฝ่ายต้องยอมรับ สคาเทิสจึงได้รับสมญานามว่า “ปราชญ์สุขุม” (ลต. Doctor Subtilis = Subtle Doctor) อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสคาเทิสเป็นนักพรตในคณะแฟรงเสิสเคินจึงมีความโน้มเอียงไปในทางเห็นด้วยกับศัพท์และสำนวนของฝ่ายคัดค้านอไควเนิสมากกว่า แม้จะเห็นด้วยกับความคิดของอไควเนิสในเรื่องสำคัญ ๆ หลายเรื่องก็ตาม
การวิเคราะห์อันละเอียดสุขุมของสคาเทิสนั้นเอง ทำให้มีผู้ตีความคิดของสคาเทิสกันเป็นหลายนัย จนยากที่จะชี้ขาดลงไปได้ว่าตัวสคาเทิสเองคิดอย่างไรจริงๆ จะอาศัยตัวบทของสคาเทิสเองก็ยาก เพราะตีความยากและยังถูกบิดเบือนสอดแทรกเป็นหลายแนว จนไม่อาจจะรู้แน่ว่าตัวบทแท้ ๆ ของสคาเทิสมีแค่ไหน เราจะพยายามตีความตามแนวประนีประนอมดังกล่าวข้างต้นเป็นเกณฑ์
สคาเทิสเป็นปฏิปักษ์กับอไควเนิสทางความคิดหรือ มีผู้คิดเช่นนั้น สคาเทิสเป็นคู่แข่งทางปรัชญากับอไควเนิสหรือ มีผู้คิดเช่นนั้น แต่ทว่าไม่ว่าจะเป็นปฏิปักษ์ต่อกันก็ดี หรือจะเป็นคู่แข่งกันก็ดี ย่อมจะต้องยืนอยู่บนพื้นสนามเดียวกัน จะต้องถือกติกาเดียวกัน และจะต้องมีเป้าหมายร่วมกัน เพียงเท่านี้ก็มีส่วนเหมือนกันเหลือหลายอยู่แล้ว และก็จะต้องมีส่วนเหมือนกันยิ่งกว่าระหว่างนักคิดที่ไม่โต้แย้งอะไรกันเลยอย่างแน่นอน ผู้เขียนขอมองในแง่ดีกว่านั้นว่า สคาเทิสกับอไควเนิสเป็นคู่เสริมกันยิ่งกว่าเป็นคู่แข่งกันนักปราชญ์ทั้ง 2 ท่านนี้มีจุดมุ่งหมายที่สูงส่งอันเดียวกัน คือพยายามจะเข้าถึงสัจธรรมในศาสนาของตนซึ่งก็เป็นศาสนาเดียวกันคือคริสต์ศาสนา ทั้ง 2 ท่านเป็นตัวอย่างของผู้แสวงหาที่แสวงหาจนตลอดชีวิตเพื่อเข้าถึงสัจธรรมให้ลึกกว่าและลึกกว่าไปเรื่อย ๆ อไควเนิสได้พบวิธีอธิบายสัจธรรมด้วยศัพท์และสำนวนขอเอเริสทาเทิล ซึ่งเป็นของใหม่เกินไปสำหรับคนทั่วไปในสมัยนั้นจะเข้าใจและยอมรับได้ สคาเทิสเก็บเอาความคิดมาพูดใหม่ด้วยสำนวนโวหารที่นักปราชญ์ทั่วไปในสมัยนั้นนิยม จึงเป็นที่ยอมรับได้ง่ายกว่า แต่ทั้งศิษย์ของอไควเนิสซึ่งเรียกตัวเองว่าชาวธาเมิส และศิษย์ของสคาเทิสซึ่งเรียกตัวเองว่าชาวสคาเทิส ต่างฝ่ายต่างก็เข้าไม่ถึงจิตตารมณ์ของอาจารย์และด้วยความหวังดีแบบศิษย์ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ทั้งหลายมักจะกระทำ กล่าวคือ ยกย่องอาจารย์ให้สูงไว้และกดฝ่ายอื่นทุกฝ่ายให้ต่ำลง พวกเขาจึงแบ่งข้างกันสนับสนุนเพื่อให้มีชีวิตชีวาก็ต้องพยายามหาและเน้นความต่าง ในขณะเดียวกันก็พยายามกลบเกลื่อนและมองข้ามความเหมือน สำนักธาเมิสกับสำนักสคาเทิสจึงแข่งขันชิงความเป็นใหญ่ในปรัชญาของคริสตจักรอย่างครื้นเครง จนเกือบจะสร้างความแตกแยกก็หลายครั้ง โชคดีที่ยังมีผู้รักการประนีประนอมคอยห้ามปรามและหมั่นประสานรอยร้าวไว้อย่างสุดฝีมือความแตกร้าวจึงมิได้เกิดขึ้นถึงขั้นแตกหักระหว่าง 2 สำนักดังกล่าว แต่ก็มีอิทธิพลสร้างอารมณ์แตกแยกไว้จรมีการแตกแยกขั้นเด็ดขาดเกิดขึ้นจริง ๆ ในกาลต่อมา
สิ่งที่ผูกนักปราชญ์ยุคกลางไว้ด้วยกันก็คือ 1) ความสนใจร่วมกันในความพยายามอธิบายวิวรณ์ของคริสต์ศาสนาด้วยปรัชญากรีก 2) การยอมรับมูลบทร่วมกันทางปรัชญาว่าทีความเป็นจริงอยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ และปัญญาของมนุษย์สามารถรู้ความเป็นจริงนั้นได้ ตราบใดที่ยังมีความสนใจและมูลบทร่วมกันอยู่เช่นนี้ ความแตกแยกจะมีเพียงผิวเผิน ความสงสัยในเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อใดก็เมื่อนั้นแหละความแตกแยกจะเป็นไปอย่างลึกล้ำ และผู้เห็นการณ์ไกลหรือมีสัญชาตญาณป้องกันภัยที่เฉียบแหลม จะพยายามขัดขวางอย่างสุดกำลังความสามารถจนอาจถึงขั้นใช้กำลังและความรุนแรงด้วยความหวังดี