scientific method วิธีการวิทยาศาสตร์
ผู้แต่ง : ศุภชัย ศรีศิริรุ่ง
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
สิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นมาในโลกแห่งปัญญาระยะนี้ก็คือ วิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์เริ่มไหวตัวขนานใหญ่และเริ่มก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เนื่องจากพบวิธีการอันถูกต้องซึ่งเรียกว่าวิธีการวิทยาศาสตร์ (scientific method) วิธีการวิทยาศาสตร์อาศัยท่าทีสองอย่างที่ต่างกันมาก คือท่าทีประจักษ์ (empirical attitude) และท่าทีคำนึง (speculative attitude) ท่าทีประจักษ์ใช้วิธีการอุปนัย (induction) ส่วนท่าทีคำนึงใช้วิธีการนิรนัย(deduction) วิทยาศาสตร์ส่วนรวมก้าวหน้าขึ้นมาได้ก็โดยอาศัยท่าทีทั้งสองร่วมกัน แต่นักปราชญ์แต่ละท่านอาจจะเน้นหนักไปในทางใดทางหนึ่งจนถึงขนาดละเลยอีกทางหนึ่งก็ได้ การเน้นหนักและการละเลยดังกล่าวนี้มีระดับต่าง ๆ กัน จึงเกิดมีความคิดปรัชญาออกมาหลายทำนองตามจิตตารมณ์ของแต่ละท่านว่า จะให้ความสำคัญแก่ท่าทีไหนมากน้อยเพียงไร ก่อนที่เราจะศึกษาความคิดของนักปรัชญาแต่ละท่าน เห็นควรทำความเข้าใจเรื่องอุปนัยและนิรนัยให้แจ่มแจ้งสักเล็กน้อยก่อน
วิธีการอุปนัย(Induction) คือวิธีพิสูจน์ข้อความทั่วไปจากประสบการณ์หน่วยย่อยหลายหน่วย เช่น เราเคยเห็นต้นมะพร้าวมาจำนวนมาก ไม่เคยเห็นแตกกิ่งเลย เราก็สรุปได้ว่าต้นมะพร้าวทุกต้นไม่แตกกิ่ง
อย่าลืมว่าวิธีการนี้กว่าจะเป็นหลักเกณฑ์ดังที่เราเข้าใจกันทุกวันนี้ได้ ก็ต้องผ่านการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมมาหลายซับหลายซ้อน ทั้งนี้อาศัยนักคิดที่มีท่าทีประจักษ์ แสดงความคิดต่อเนื่องกันมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ
ท่าทีนี้ เริ่มจากนักประพันธ์ที่ชอบสังเกตธรรมชาติแล้วระบายออกมาเป็นความรู้สึกต่าง ๆ ส่วนพวกนักปรัชญายุคโบราณจนสิ้นยุคกลางชอบคิดออกมาจากปัญญามากกว่าสังเกตธรรมชาติ ทั้งนี้ต้องยกเว้นบางท่าน เช่น แอเริสทาเทิล เซนต์แอลเบิรท์ผู้ยิ่งใหญ่ เป็นต้น ที่ใช้ทั้ง 2 วิธีช่วยกัน
ตัวอย่างพวกที่มีท่าทีประจักษ์ เช่น โชเซอร์ (Chaucer 1342?-1400) บรรยายลักษณะแท้จริงของนักแสวงบุญแต่ละคนตามความเป็นจริง แสดงความงามของฤดูใบไม้ผลิด้วย สี กลิ่น เสียง ตามที่ได้สังเกตมาจริง ๆ ศิลปินศตวรรษที่ 15 ที่พยายามจะวาดภาพมนุษย์ตามความเป็นจริงและพยายามทดลองใช้ทิวทัศน์ (perspective) ในภาพเขียน เหล่านี้นับว่าเป็นพวกมีท่าทีประจักษ์ทั้งสิ้น ท่าทีของพวกนี้ต่างกับท่าทีมนุษยนิยมสมัยฟื้นฟู(renaissant humanism) เพราะชาวมนุษยนิยมสมัยฟื้นฟูสนใจเดินตามจิตตารมณ์กรีกเพื่อแทนจิตตารมณ์ศาสนาคริสต์ยุคกลางเป็นประเด็นสำคัญ
กระไรก็ดี ท่าทีประจักษ์ดังกล่าวข้างต้นยังไม่เป็นวิทยาศาสตร์ พวกที่เริ่มมีท่าทีประจักษ์แบบวิทยาศาสตร์เห็นจะได้แก่พวกศึกษาแพทยศาสตร์ตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทางเหนือของอิตาลี พวกนี้เริ่มค้นคว้าจากตำรากรีกและอาหรับ แล้วค่อย ๆ สนใจสังเกตอาการโรคและทดลองการบำบัดด้วยวิธีการต่าง ๆ ตามธรรมชาติ มีการผ่าศพคนตายเพื่อความรู้ทางสรีระวิทยา เป็นต้น พวกนี้จึงนับว่ามีท่าทีและจิตตารมณ์ต่างกับพวกนักปราชญ์ยุคกลางเป็นอันมาก ซึ่งชอบเชื่อคำสอนของคนโบราณและคิดเข้าใจเอาด้วยปัญญาหยั่งรู้ นักปราชญ์ที่มีท่าทีหนักไปในทางนี้ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น
วิธีนิรนัย(Deduction) คือการพิสูจน์ข้อความทั่วไปที่ยากกว่าโดยอ้างข้อความที่ง่ายกว่ามาสนับสนุน เช่น เราพิสูจน์ว่าลุงดำเป็นผู้ชายโดยอ้างว่า เพราะลุงทุกคนเป็นผู้ชาย
วิธีนิรนัยนี้ใช้อย่างได้ผลเด่นชัดที่สุดในวิชาคณิตศาสตร์ เช่น วัว 2 ตัว กับควาย 3 ตัว รวมเป็นสัตว์ 5 ตัว ก็เพราะเราแน่ใจกฎทั่วไปว่า 2 + 3 = 5 เสมอ
นักปรัชญาในช่วงแรกที่เน้นการใช้วิธีการนี้ได้แก่ เคอเพอร์นิเคิส (Copernicus 1473 – 1543) ; เคพเลอร์ (Kepler 1571-1630) ; กาลิเลโอ (Galileo 1564-1642) ; เดการ์ต (Descartes 1596-1650) ; ฯลฯ