scientific method, origin of กำเนิดของวิธีการวิทยาศาสตร์
ผู้แต่ง : ศุภชัย ศรีศิริรุ่ง
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
ความสนใจไสยศาสตร์และโหราศาสตร์ ซึ่งฟักตัวในยุคกลาง และกลายเป็นขบวนการอย่างออกหน้าออกตาในสมัยฟื้นฟู ดังที่เราได้เห็นมาแล้ว เป็นปัจจัยให้มีการค้นพบข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ทีละน้อย ๆ โดยไม่รู้ตัว เมื่อข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มีมากขึ้น ก็จะมีนักคิดล้ำยุคบางคนต้องการจะรวบรวมขึ้นเพื่อเตรียมแยกตัวเป็นอิสระ อย่างไรก็ตามในระยะแรก ๆ ก็ยังมีไสยศาสตร์ปะปนอยู่บ้าง แต่ก็ค่อย ๆ ลดน้อยลงจนหมดสิ้นไปกับกาลเวลา (มีผู้คิดว่าแม้ในปัจจุบันก็ยังไม่หมดสิ้นอย่างจริงจัง) ทั้งนี้ย่อมเป็นไปตามครรลองแห่งกระแสความคิดของมนุษย์ ซึ่งไม่สู้จะเปลี่ยนแปลงอะไรปุบปับกระทันหันทุกด้านพร้อมกัน แต่จะค่อย ๆ สำนึกได้ทีละแง่ทีละด้านจนหมดทุกด้านในที่สุดจนได้ ขบวนการนี้นำหน้าโดยขบวนการฟื้นฟูกฎของโลก ดังเราได้เพิ่งพิจารณากันจบลง ต่อจากนี้ก็ถือว่าเป็นกลุ่มก่อตั้งขบวนการวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง ซึ่งจะมุ่งหน้าแสวงหาวิธีการวิทยาศาสตร์เป็นเป้าหมายสำคัญ จึงขอเรียกกลุ่มก่อตั้งนี้ว่า ขบวนการแสวงหาวิธีการวิทยาศาสตร์
บ่อเกิดหรือต้นตอของขบวนการนี้อาจจะสืบไปได้ถึงปี ค.ศ.1085 อันเป็นปีที่ชาวคริสต์สามารถยึดเมืองโตเลโดได้จากชาวมุสลิมในสงครามครูเสด เมืองนี้ได้ตกเป็นของฝ่ายมุสลิมไปตั้งแต่ปี ค.ศ.712 ต่อจากนั้นชาวมุสลิมได้พัฒนาเป็นศูนย์การค้าและศูนย์รวมศิลปวัฒนธรรมอิสลาม ครั้นยึดกลับคืนมาได้ชาวคริสต์ที่กระหายความรู้ก็พากันดั้นด้นมาหาความรู้ด้านต่าง ๆ อาร์ชบีชอพ รามอนแห่งโตเลโด (Ramon de Toledo) ตอบสนองความต้องการโดยตั้งสำนักแปลตำราจากภาษาต่าง ๆ เช่น จากภาษาอาหรับและภาษาฮีบรูเป็นภาษาละติน เพื่อใช้เป็นคู่มือศึกษาได้ทั่วยุโรป สำนักนี้จึงเป็นที่ชุมนุมของนักแปล เช่น เกราร์โดแห่งเครโมนา (อต. Gerardo di Cremona 1114-87) แปล อัลมาเกสต์ (Almagest) ภาษาอาหรับ อันเป็นงานดาราศาสตร์ของทาเลอมิ และแปลวิชาการภาษาอาหรับอีกประมาณ 80 เรื่อง
ศูนย์แปลแห่งที่สองอยู่บนเกาะซิซิลีทางภาคใต้ของอิตาลี ซึ่งตกเป็นของชาวมุสลิมตั้งแต่ปี ค.ศ.961 ที่นี่นอกจากมีชาวมุสลิมและชาวยิวแล้ว ยังมีชาวกรีกด้วย เพราะชาวกรีกมาตั้งอาณานิคมตั้งแต่สมัยกรีกรุ่งเรืองแล้ว จึงมีต้นฉบับภาษากรีกด้วย ชาวคริสต์ยึดคืนได้ในปี ค.ศ.1091 อาร์ชบีชอพแห่งซิซิลีตั้งสำนักแปลงานวิชาการจากภาษาอาหรับ ยิว และกรีก เป็นภาษาละตินเช่นกัน นักแปลที่สำคัญมี เลโอนาร์โดแห่งปีซา (อต. Leonardo di Pisa) ซึ่งแปลงานคณิตศาสตร์จากภาษาอาหรับและต่อมาก็เขียนเองด้วย
นอกจากนั้นก็มีอีกหลายท่านแปลงานของแอเริสทาเทิลจนครบ งานด้านไสยศาสตร์ก็มีผู้แปลอย่างกว้างขวางจากภาษาอาหรับและภาษาฮีบรู และคงจะแพร่หลายเร็วยิ่งกว่าวิชาการอื่น ๆ เพราะความสนใจอยู่ในอันดับ 1 ของวงวิชาการ สันตะปาปาจอห์นที่ 22 ออกประกาศห้ามสอนและปฏิบัติไสยศาสตร์ แต่ก็คงมีผู้ลักลอบเล่นกันต่อไปในนามของอัลเคมี ซึ่งนำไปสู่การพบสารเคมีหลายชนิด เช่น แอลกอฮอล์ ปรอท เป็นต้น ในที่สุดขบวนการแสวงหาวิธีการวิทยาศาสตร์ก็เกิดขึ้น เราจะพิจารณาการค้นพบของผู้อยู่ในขบวนการนี้เป็นรายบุคคลดังต่อไปนี้