scientific method and politics วิธีการวิทยาศาสตร์กับการเมือง
ผู้แต่ง : ศุภชัย ศรีศิริรุ่ง
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
แต่เดิมมาอำนาจการเมืองอยู่ในมือของผู้มีทรัพยากรในครอบครอง เพราะถือว่าคนพวกนี้เท่านั้นที่มีส่วนได้ส่วนเสียในอธิปไตยของรัฐ คนไม่มีทรัพย์สินไม่มีอะไรจะต้องเสีย คิดเอาแต่ได้ ไม่กลัวเสีย จึงไม่ควรให้มีบทบาทตัดสินใจในเรื่องที่คนอื่นอาจจะต้องสูญเสีย
จอห์น ลัค (John Locke 1632-1704) ซึ่งได้เรียนรู้ระบบการเมืองดังกล่าว ต้องการดัดแปลงให้เข้าใจตามมาตรการความคิดของตน คือ เริ่มจากสมองว่างเปล่า ลืมตาหาประสบการณ์ ใช้เหตุผลนิรนัยไล่เลียงหาความเป็นจริง ก็พบประเด็นแรกให้พิจารณาคือ “ทรัพย์สิน เป็นของใคร” หากเจ้าของมีสิทธิครอบครองโดยชอบธรรมเขาย่อมมีสิทธิปกป้องโดยชอบธรรม เขาอาจจะมอบให้รัฐปกป้องแทนเขาได้ ในลักษณะนี้รัฐบาลก็จะชอบธรรม สังคมตามระบบเหตุผลเช่นนี้จึงเรียกว่ามีสัญญาประชาคม (social contract) ต่อกันอย่างถูกต้อง
ลัคไม่เห็นด้วยกับสัญญาประชาคมตามระบบเหตุผลของธาเมิส ฮับส์ (Thomas Hobbes 1588-1679) ซึ่งเหนื่อยหน่ายต่อสงครามกลางเมืองโดยประชาชนยื้อแย่งกันตามสัญชาตญาณผลักดัน จึงเสนอให้กษัตริย์เป็นจ้าวสมุทร (Leviathan) กุมอำนาจเด็ดขาดเพื่อไม่ให้ประชาชนซึ่งล้วนมีกิเลส ทำผิดสัญญาประชาคม (เพื่อป้องกันสงครามการเมือง) อำนาจของกษัตริย์มิได้มาจากพระเจ้าแต่มาจากสัญญาประชาคม (เพื่อป้องกันมิให้กษัตริย์ลืมหน้าที่ต่อราษฎร) ราษฎรต้องช่วยกันยกย่องกษัตริย์และปกป้องอำนาจกษัตริย์ (เพื่อป้องกันสงครามชิงบัลลังก์) ฮับส์คิดว่าตามระบบนี้ กษัตริย์จะพยายามทำหน้าที่อย่างดีที่สุดเพื่อมิให้ประชาชนผิดหวัง
แต่ลัคมองว่า สัญญาประชาคมของฮับส์มาจากมูลบทที่มีอคติล่วงหน้า เพราะไม่ได้เริ่มจากสมองว่างเปล่า แต่สมมุติว่า มนุษย์ทุกคนเห็นแก่ตัวเพราะมีความอยากและความกลัว คืออยากกอบโกย และกลัวคนอื่นเบียดเบียน จึงต้องยอมมอบอำนาจอธิปไตยให้กษัตริย์มีอำนาจสูงสุด
ลัคเชื่อว่าระบบของตนไม่มีอคติที่รับไม่ได้ล่วงหน้าแต่เริ่มจากสมองว่างเปล่า สังเกตสภาพที่เป็นจริงขณะนั้น แล้วใช้ระบบเหตุผลรับรู้ ซึ่งแสดงว่าสมองว่างเปล่าของลัคนั้นมีเครือข่ายเหตุผลสำหรับประเมินประสบการณ์ให้เป็นไปตามเกณฑ์สากลของมนุษย์อยู่ ลัคจึงแก้ไขมาตรการของสัญญาประชาคมของฮับส์ว่า อำนาจสูงสุดของรัฐบาลมาจากอธิปไตยที่ประชาชนมอบให้เพื่อให้กษัตริย์คุ้มครองสิทธิและผลประโยชน์ของประชาชน หากประชาชนทำผิดสัญญาประชาคม รัฐบาลมีหน้าที่ลงโทษ และถ้ารัฐบาลผิดสัญญาประชาคมในกรณีเช่นนี้ ประชาชนมีหน้าที่เปลี่ยนรัฐบาล ลัคคิดว่าประชาชนต้องร่วมมือกันก่อกบฏ แต่ลัคคงไม่ได้คิดถึงว่าจะทำได้สำเร็จอย่างไร โดยไม่ให้การกบฏนั้นเกิดจากการโฆษณาชวนเพื่อประโยชน์แอบแฝงของใครหรือกลุ่มใด ระบบของลัคจึงยังไม่สมบูรณ์ตามเป้าหมาย เพราะแม้แต่คำกุญแจที่ลัคเน้นในระบบการเมืองของตน อย่างทรัพย์สิน สิทธิชอบธรรม เปลี่ยนรัฐบาล ก็อาจจะถูกใช้เป็นคำโฆษณาชวนเชื่อ ทำให้เสียระบบได้ง่าย