scientific method and education วิธีการวิทยาศาสตร์กับการศึกษา
ผู้แต่ง : ศุภชัย ศรีศิริรุ่ง
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
ในเมื่อเอกภพบรรจุสสารเป็นระบบจักรกล สังคมบรรจุมนุษย์ในระบบจักรกล ความคิดของมนุษย์ก็เป็นจักรกลด้วยเช่นกัน จากการที่เดการ์ตได้เสนอไว้ก็ได้ชี้แนะวิธีคิดใหม่ โดยพัฒนาตรรกวิทยาของแอเริสทาเทิลให้สมบูรณ์ยิ่ง ๆ ขึ้น เพื่อให้เป็นกลไกมาตรฐานของความคิดของมนุษย์ และเรียกกลไกดังกล่าวว่า “เหตุผล” เรียกการดำเนินความคิดดังกล่าวว่า “คิดอย่างมีเหตุผล” และความคิดที่เป็นผลจากวิธีดังกล่าวว่า “ความคิดที่มีเหตุผล” เรียกยุคที่มีการยกย่องความคิดแบบนี้กันอย่างกว้างขวางว่า “ยุคเหตุผล” อันได้แก่ ศตวรรษที่ 18 ขบวนการที่ส่งเสริมเหตุผลตามความหมายข้างต้นนี้ว่า “ขบวนการพุทธิปัญญา” ทั้ง ๆ ที่นักปราชญ์กรีกใช้คำว่า “เหตุผล” หมายถึงสมรรถภาพคิดแบบกรีก แต่มาถึงตอนนี้ มีความหมายเจาะจงดังกล่าวทำให้นักศึกษาปรัชญาที่ไม่วิเคราะห์ความหมายของคำเสียก่อนพากันสับสน
เมื่อทฤษฎีความรู้หรือญาณปรัชญาข้างต้นกลายเป็นอภิปรัชญาไปด้วย คือกลายเป็นความเชื่อสัจธรรมว่าธรรมชาติของมนุษย์เป็นอย่างนี้จริง คือถือว่าใครไม่คิดอย่างนี้ถือว่ามีธรรมชาติมนุษย์บกพร่อง และเชื่อเป็นสัจธรรมด้วยว่า การคิดเช่นนี้ตรงกับกลไกที่เป็นจริงในเอกภพอย่างวัตถุวิสัย เมื่อเชื่ออย่างไรก็ต้องจัดระบบการศึกษาทั้งระบบให้สอดคล้องกัน ระบบการศึกษาก็กลายเป็นกลไกการผลิตสติปัญญาของมนุษย์ให้คิดเป็นระบบกลไก โดยมั่นใจว่าจะเข้าถึงความเป็นจริงของเอกภพที่เป็นกลไกตอบสนองกัน เชื่อกันว่าใครคิดอย่างนี้ย่อมได้ความจริงซึ่งมีแต่ระบบเดียวอย่างนี้เท่านั้น เพี้ยนจากนี้ไปถือว่าผิดทั้งนั้น เป็นแบบวจนศูนย์นิยมเต็มตัว
การศึกษา (education มาจาก ลต.educere) คือ การดึงมนุษย์จากความไม่รู้สู่การรู้ ระบบความรู้ซึ่งจะต้องก้าวหน้าไปสู่ระบบที่สมบูรณ์ คือ รู้ครบถ้วนตามระบบที่เอกภพเป็นอยู่จริง โดยเชื่อว่าเรายิ่งเข้าใกล้ความสมบูรณ์แห่งระบบนี้มากเท่าใด มนุษย์เราจะยิ่งมีความสุขมากขึ้นเท่านั้น และมนุษย์จะสามารถควบคุมเป็นนายเหนือเอกภพมากขึ้นเท่านั้น