sciences separated from philosophy วิทยาศาสตร์แยกตัวจากปรัชญา
ผู้แต่ง : ศุภชัย ศรีศิริรุ่ง
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
นักวิทยาศาสตร์นวยุคเบื่อที่จะอยู่ในกรอบ ทั้งประสบการณ์ที่ผ่านมาก็ชี้ช่องให้เห็นว่าพวกเล่นแร่แปรธาตุไม่สนใจกรอบ แม้จะถูกห้ามปรามและถูกปราบปรามอย่างไรก็ยังชอบเสี่ยงนอกกรอบของความแน่นอนและความชัดเจน ก็ปรากฏว่าได้พบข้าวของเครื่องใช้และยาจำนวนมาก พวกเหล่านี้ไม่ใช่นักวิชาการ จึงไม่คิดถึงหลักการอะไรทั้งสิ้น อยากจะทดลองอะไรก็ทดลองเรื่อยไป ทดลองทั้งการใช้คาถาอาคมร่วมกับการทดลองผสมธาตุในอัตราส่วนต่าง ๆ บางทีก็ได้ยารักษาโรค บางทีก็ได้สารพิษซึ่งก็เรียกว่ายาด้วย(ยาพิษและยาเสพติด) ส่วนนักวิทยาศาสตร์เป็นปราชญ์รู้วิธีการ ก็อยากจะเสี่ยงตามหลักวิชาการ คือแทนที่จะจำกัดวงค้นคิดอยู่ในกรอบของปฐมบทที่แน่นอนและชัดเจน ก็อยากจะเสี่ยงปฐมบทสมมุติขึ้นมาใหม่เสียบ้าง แล้วก็พิสูจน์หรือคำนวณตามหลักนิรนัย ได้ผลอย่างไรจึงเอามาตรวจสอบดู กลายเป็นวิธีการวิทยาศาสตร์ที่แตกต่างไปจากวิธีนิรนัยของแอเริสทาเทิล และวิธีพิสูจน์ด้วยสัจพจน์ของยูคลิด
เรื่องใดสมมติแล้วได้ผลทดสอบได้ก็เก็บไว้ใช้ เรื่องใดสมมุติแล้วทดสอบไม่สมจริงก็ตัดทิ้งไป มีกลุ่มที่เห็นดีเห็นชอบและสนับสนุนวิธีการนี้อย่างแข็งขัน โดยไม่คำนึงถึงการคัดค้านขัดขวางของฝ่ายอนุรักษ์ทั้งหลาย องค์การศาสนาคริสต์ในสมัยนั้นเลือกทางอนุรักษ์อย่างแข็งขัน แน่นอนว่าบรรดานักอนุรักษ์นิยมทั้งหลายย่อมตื่นตระหนกและอึดอัดใจด้วยความเป็นห่วง เหมือนผู้ใหญ่ที่เห็นหนุ่ม ๆ สาว ๆ ชอบทำอะไรแหวกแนว โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์การศาสนาคริสต์ขณะนั้นที่ถือตัวว่าเป็นผู้ใหญ่ของสังคมยุโรปขณะนั้น
ฝ่ายที่กล้าเสี่ยงกับปฐมบทที่ไม่แน่นอน โดยหวังผลที่น่าจะเป็น (probable) เท่านั้น แสดงความคิดไว้ในหนังสือหลัก 4 เล่ม ที่ถือว่าเปิดฉากแนวเสี่ยงใหม่ คือ
- หนังสือDiscussions and Mathematical Proofs in Two New Sciences Concerning Mechanics and the Laws of Falling Bodies, 1638 (ข้อโต้เถียงและข้อพิสูจน์ทางคณิตศาสตร์ในวิทยาศาสตร์ใหม่ 2 แนวเกี่ยวกับกลศาสตร์และกฎของเทห์ที่กำลังตก) เขียนโดยกาลิเลโอ
- The Treatise on Light, 1690 (ตำราว่าด้วยแสง) เขียนโดยเฮยเกินส์ (Huygens)
- Mathematical Principles of Natural Philosophy, 1687 (หลักการคณิตศาสตร์ของปรัชญาธรรมชาติ)
- Opticks, 1704 (ทัศนศาสตร์)
สองเล่มหลังนี้เขียนโดยนิวเทิน ซึ่งคริสเตียนเฮยเกินส์ (Christian Huygens 1629-95) วิจารณ์ว่า “ณ ที่นี้เราจะพบการพิสูจน์ที่ไม่สร้างความแน่นอนระดับสูงเหมือนการพิสูจน์เรขาคณิต และจริง ๆ ก็ต่างกันมากกับวิธีพิสูจน์ของนักคณิตศาสตร์… อย่างไรก็ตามวิธีนี้ให้ผลเพียงความน่าจะเป็นเท่านั้น แต่ถ้าจะให้ได้ผลดีที่สุดนั้นเราต้องสมมุติปรากฏการณ์ใหม่ ๆ ที่อาจจะเป็นผลจากสมมุติฐานที่เราใช้ และต่อมาก็พบว่าเป็นจริงอย่างนั้น หากว่าในการศึกษาต่อไปเราพบว่าเรามีเกณฑ์ความน่าจะเป็นครบทุกประการ ก็ถือได้ว่าการวิจัยของข้าพเจ้าแกร่งมากทีเดียว”และนิวเทินก็ได้กล่าวอย่างเดียวกันด้วยสำนวนวิชาการมากขึ้นว่า “แม้ว่าการอ้างการทดลองและการสังเกตเพื่ออุปนัยไม่อาจพิสูจน์ความจริงสากลของข้อสรุปก็ตาม มันก็ยังเป็นวิธีที่ดีที่สุดของการพิสูจน์ที่ธรรมชาติจะให้ได้”