scholastic philosophy ปรัชญาอัสสมาจารย์
ผู้แต่ง : กันต์สินี สมิตพันธ์
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
“อัสสมาจารย์” มาจากศัพท์บาลี อัสสะมะ (สก. อาศรฺมะ = ที่อยู่ของนักพรต + ศัพท์สันสกฤต อาตาระยะ (มค. อาจาริย) = อาจารย์ หมายความตามนิรุกติว่า อาจารย์ที่อยู่ตามอาศรม เป็นศัพท์บัญญัติขึ้นเพื่อให้แปลศัพท์ภาษาอังกฤษว่า scholastic philosphersหรือ schoolmen หมายถึง นักปรัชญาตามสำนักต่างๆ ในครึ่งหลังของยุคกลาง ซึ่งมีฐานะเป็นบาทหลวงในคริสตศาสนาที่อยู่ตามสำนักนักปรัชญา เพราะการสอนปรัชญาในสมัยดังกล่าวนี้มีการจัดระบบการศึกษาเป็นหลักสูตรระดับมหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยทุกแห่งเป็นขององค์การศาสนาคริสต์ หรือบริหารโดยองค์การศาสนาคริสต์ อาจารย์ที่สอนและนักปรัชญามีชื่อจึงเป็นนักบวชทั้งสิ้นและส่วนมากเป็นนักพรตของคณะต่างๆ ปรัชญาอัสสมาจารย์จึงหมายถึงปรัชญาของนักปรัชญาเหล่านี้ ซึ่งมีอยู่หลายสำนักด้วยกัน
การแบ่งปรัชญาอัสสมาจารย์ แบ่งตามระยะเวลาได้ 5 ระยะ คือ
1) ระยะฟื้นฟูโดยกษัตริย์ชาร์ลมาญ (ค.ศ. 800-1100)
2) ระยะสร้างปัญหา (ค.ศ. 1100-1200)
3) ระยะสร้างระบบ (ค.ศ. 1200-1274)
4) ระยะเลือกระบบ (ค.ศ. 1275-1300)
5) ระยะเสื่อมศรัทธาต่อระบบ (ค.ศ. 1300-1500)
ลักษณะทั่วไป
แยกเทววิทยาออกจากปรัชญา โดยถือว่าการศึกษากันคนละระดับปรัชญาศึกษาด้วยเหตุผลตามธรรมชาติ คือ ถือเอาสามัญสำนึกเป็นมูลบท ส่วนเทววิทยาศึกษาด้วยเหตุผลเหนือธรรมชาติ คือ ถือเอาวิวรณ์ (revelation) เป็นมูลบทของเหตุผล ปรัชญากับเทววิทยาอาจจะศึกษาเนื้อหาเดียวกันในบางเรื่อง แต่วิธีอ้างเหตุผลต่างกัน อย่างไรก็ตาม เทววิทยาต้องช้ปรัชญาเป็นพื้นฐาน แต่หาความรู้เหนือปรัชญาขึ้นไป ปรัชญาจึงเป็นสาวใช้ของเทววิทยา (Philosophy is the handmaid of Theology) ด้วยประการฉะนี้
ภาษา ใช้ภาษาละตินเป็นภาษากลางสำหรับนักศึกษาทั่วยุโรปความคิดจึงเดินตามหลักภาษาของภาษาละติน
วิธีเสนอปรัชญา เสนอในรูปนิรนัยอย่างหลวมๆ คือ ประโยคไม่จำเป็นต้องแปลงเป็นประโยคตรรกวิทยาเสมอไป เวลาคัดตค้านก็อ้างชื่อประโยค เช่น ขอคัดค้านประโยคอ้างเอก ขอยอมรับประโยคอ้างโท หรือขอแยกประโยคสรุป เป็นต้น วิธีการนี้เรียกว่าวิภาษวิธีแบบอัสสมาจารย์ (scholastic dialectic)
นิยมการสร้างระบบ อาจารย์ผู้สอนปรัชญาสมัยนั้นจะพยายามสร้างระบบความคิดของตนขึ้นโดยรวบรวมเนื้อหาเท่าที่สนใจกันอยู่ในขณะนั้น ใครสร้างระบบได้แนบเนียนดีจะมีลูกศิษย์ลูกหามาก
แนวโน้ม ปรัชญาปิตาจารย์เน้นหนักทางผสมผสานคริสต์ศาสนากับปรัชญากรีก ปรัชญาอัสสมาจารย์จะหันมาเน้นทางใช้ปรัชญากรีกอธิบายคริสตศาสนามากกว่าที่จะหวังผลเพียงแค่การผสมผสาน