Sartre’s Being and Nothingness ซาตร์ว่าด้วยภาวะกับอภาวะ
ผู้แต่ง : กันต์สินี สมิตพันธ์
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
ความเป็นจริงมีเท่าที่ปรากฏแก่ผัสสะ ไม่มีอะไรอยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ ปรากฏการณ์แสดงตัวเองเท่านั้น ไม่แสดงอะไรอื่นนอกหนือไปจากตัวเอง ไม่มีปรมัตถ์ตามความหมายของคานต์ ปรมัตถ์ก็คือปรากฏการณ์นั้นเอง ฮุสเซิร์ลพบวิธีถูกต้อง คือ วิธีปรากฏการณ์ แต่ใช้ในทางไม่ถูกต้อง จึงพบว่ามีอัตตาในอุตรภาวะ (transcendental ego)ไฮเด๊กเกอร์ใช้วิธีการของฮุสเซิร์ลได้ถูกต้องมากกว่าเจ้าของ จึงพบความจริงหลายอย่าง แต่ก็ยังบกพร่องที่มิได้บรรยายถึงร่างกายที่มีชีวิต ความสัมพันธ์ระหว่างอัตตาต่างๆ และความหมายของความตาย ซาร์ตร์เชื่อว่าตนสามารถใช้วิธีปรากฏการณ์ของฮุสเซิร์ลได้ถูกต้องและสมบูรณ์มากกว่าไฮเด๊กเกอร์ จึงพบความจริงดังต่อไปนี้
ภาวะไม่มีอะไรแฝงอยู่เบื้องหลังของสิ่งที่ปรากฏ แต่ทว่าไม่มีภาวะหน่วยใดเลยสักหน่วยเดียวที่สามารถแสดงลักษณะของภาวะได้ทุกอย่าง ความสำนึกไม่มีวันจะสำนึกถึงภาวะได้ทุกแง่ทุกมุมเลย ภาวะของภาวะไม่อยู่ในขอบข่ายของการแบ่งประเภท ไม่อยู่ในขอบข่ายของการกำหนดคำและการบรรยายของสติปัญญาของมนุษย์ ภาวะมีความเป็นจริงและมีคุณสมบัติซึ่งอยู่พ้นความหมายของคำพูด แม้ว่าภาวะจะมีภาวะเท่าที่ปรากฏ แต่ทว่ามนุษย์ไม่สามารถรู้ได้ทั้งหมดภายใต้แง่เดียว ปรากฏการณ์ทั้งหลายบอกให้รู้ว่า ยังมีปรากฏการณ์ที่ติดตามมาอีก ภาวะพื้นฐานดังกล่าวของภาวะนี้แหละแสดงให้เห็นว่า ภาวะอาจจะแบ่งออกได้เป็นภาวะในตัวเอง (ฝร. En-soi = being-in-itself) และภาวะสำหรับตัวเอง (ฝร. Pour-soi = being-for-itself)
ภาวะในตัวเอง ได้แก่ สสารทั้งหลาย (ทุกสิ่งในเอกภพนอกจากความสำนึกของมนุษย์) มีความเต็มในตัวเอง ไม่อยู่ในสมรรถนภาวะที่จะเป็นอย่างอื่น และไม่อยู่ในกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลง ไม่มีความสัมพันธ์กับสิ่งใดทั้งสิ้น มีความเป็นอยู่เฉพาะตัว เป็นอยู่โดยบังเอิญ ไม่มีเหตุผลอันใดที่จะต้องเป็นอยู่ หากไม่เป็นอยู่ก็ไม่มีอะไรกระทบกระเทือน เป็นอยู่ในสภาพส่วนเกิน (ฝร. De torp = superfluous) ไม่มีใครสร้างมา ไม่มีใครกำหนด จึงอยู่ในสภาวะเช่นนี้เรื่อยมา และเรื่อยไป
ภาวะสำหรับตัวเอง ได้แก่ ความสำนึกหรือพิชานของมนุษย์ มีความว่างเปล่าในตัวเป็นสุญตา คือ ยังไม่เป็นอะไรเลยที่แน่นอนตายตัว มีสมรรนภาพที่จะเป็นอะไรก็ได้ แล้วแต่จะตัดสินใจเลือก สภาวะแท้ของภาวะสำหรับตัวเองจึงได้แก่ เสรีภาพอันเป็นเสรีภาพที่ไม่มีขอบเขตจำกัดและจะสละเสียมิได้ ภาวะสำหรับตัวเองจึงเป็นอะไรในแต่ละขณะตามที่ตนเองตัดสินใจเลือกสำหรับตัวเอง
ภาวะในตัวเองนำหน้าภาวะสำหรับตัวเอง ทั้งในด้านความเป็นอยู่และในด้านความเข้าใจ นั่นคือ สสารมีมาก่อน ส่วนมนุษย์อุบัติมีขึ้นภายหลัง และเราจะเข้าใจมนุษย์ไม่ได้เว้นแต่จะเข้าใจสสารเสียก่อน ยิ่งกว่านั้น ความสำนึกในตัวมนุษย์นั้นเกิดจากสสารนั่นเอง เกิดโดยกระบวนการปฏิเสธความแน่นอนตายตัวของสสาร ทำให้ความแน่นอนตายตัวของสสารกลายเป็นอภาวะไป ผลของการปฏิเสธก็คืออภาวะ (ฝร. Neantisation = nihilation) ของสสาร ได้ความสำนึกขึ้นมาในที่ที่เคยเป็นสสารมาก่อน ความสำนึกจึงถือได้ว่าเป็นอภาวะเมื่อเทียบกับสสาร และเป็นอภาวะที่แฝงอยู่ในเนื้อของสสารเหมือนหนอนที่คุดคู้อยู่ในเนยหรือในผลไม้ รอให้มีการปฏิเสธอันเป็นผลให้ความแน่นอนตายตัวของสสารหมดสิ้นไปเมื่อใด ก็จะปรากฏความสำนึกขึ้นแทนที่เมื่อนั้น ภาวะของความสำนึกจึงเป็นภาวะที่ขอยืมมาจากสสารโดยผ่านกระบวนการปฏิเสธ จึงเป็นภาวะที่ไม่มั่นคง จะกลับคืนสู่ภาวะดั้งเดิมเมื่อใดก็ได้ อะไรเล่าเป็นสาเหตุที่ผลักดันให้เกิดการปฏิเสธขึ้นในสสารจนกลายเป็นความสำนึกขึ้นมา เรื่องนี้ซาร์ตร์ไม่สามารถอธิบายได้และแถลงว่าเป็นเรื่องลึกลับ เรารู้เพียงแต่ว่าความสำนึกมีอยู่ต่อหน้าต่อตาเรา ก็ต้องเชื่อว่ามีกระบวนการปฏิเสธ เพราะเรารู้อยู่ว่า ความสำนึกมีภาวะตรงข้ามกับสสาร
เนื่องจากความสำนึก คือ อภาวะ มนุษย์มีความสำนึกจึงสามารถทำให้อภาวะเกิดขึ้นได้ในโลก อภาวะของความสำนึกนี่แหละที่ทำให้เกิดมีข้อความปฏิเสธขึ้นในความคิด ถ้าไม่มีมนุษย์ข้อความปฏิเสธก็จะไม่มี เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมีอยู่ในสภาพปฏิฐานทั้งสิ้น ความสำนึกของมนุษย์นี่แหละที่คาดหมายแล้วไม่ได้อย่างใจ จึงเกิดปฏิเสธขึ้นในระเบียบความคิด เช่น หวังจะพบปีแอร์ในความสำนึกของผู้คอย ถ้าไม่มีใครคอยปีแอร์เลย ความสัมพันธ์นี้ก็ย่อมจะไม่เกิดขึ้น ดังนั้น การปฏิเสธในระเบียบความคิดจึงสืบเนื่องมาจากการที่มีการปฏิเสธในระเบียบความเป็นจริงขึ้นมาก่อน
อภาวะของความสำนึก คือ เสรีภาพอันสมบูรณ์ เพราะอภาวะหมายความว่า ยังไม่เป็นอะไรแน่นอน จึงอาจจะเป็นอะไรก็ได้ตามต้องการ จึงกล่าวได้ว่าธาตุแท้ของมนุษย์ ได้แก่ เสรีภาพ แต่ตามปกติมนุษย์จะใช้เสรีภาพโดยอัตโนมัติ ไม่ตระหนักว่าตนทำการทุกอย่างโดยเสรี จนกว่าจะมีความกังวลใจ (ฝร.Angoisse = anxiety) ถึงขนาด จึงตระหนักถึงธาตุแท้ของตน อันได้แก่ เสรีภาพนี้ได้ จึงนับว่า อภาวะ ความกังวลใจ และเสรีภาพมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด