Sartre on Freedom ซาตร์ กับเสรีภาพ
ผู้แต่ง : กันต์สินี สมิตพันธ์
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
มนุษย์ถูกทอดทิ้งให้สร้างตัวเอง ทั้งนี้ ก็เพราะว่าพระเจ้าเป็นเพียงสมมติฐานของคนโบราณ เมื่อมนุษย์พบความจริงว่าไม่มีพระเจ้า สารัตถะและความตายตัวทั้งหลายซึ่งเป็นผลสรุปของพระจ้าก็หายวับไปพร้อมพระเจ้า มนุษย์จึงพบว่า จุดเริ่มต้นของตนก็คือการมีอยู่หรืออัตถิภาวะ นอกเหนือจากนี้ มนุษย์ต้องสร้างขึ้นเองทั้งสิ้น มนุษย์จึงถูกสาปให้ต้องรับผิดชอบทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในเอกภาพด้วย นักอัตถิถาวนิยมไม่เชื่อทั้งพรสวรรค์และกิเลส ทั้ง 2 อย่างเป็นข้อแก้ตัวเพื่อเลี่ยงการรับผิดชอบ ความจริงแล้ว “มนุษย์คืออนาคตของมนุษย์” ความจริง การอ้างกฎเกณฑ์เพื่อเลือกปฏิบัติก็ดี การขอคำแนะนำจากผู้รู้ก็ดี เราเลือกทางปฏิบัติล่วงหน้า แล้วเราจึงเลือกกฎและเลือกตัวบุคคลสำหรับชี้ขาดตามที่เราพอใจ ต่อจากนั้นก็เลี่ยงการรับผิดชอบไปในตัวด้วยอย่าลืมว่า “ค่าของชีวิตของฉันได้มาจากการกระทำของฉัน” ดังนั้น จงรับผิดชอบด้วยตัวเองเสมออย่าหวังหรือคอยให้ผู้อื่นมารับผิดชอบแทนเป็นอันขาด ดังเช่น ความรักทั้งหมดอยู่ที่การแสดงความรักศิลปะทั้งหมดอยู่ที่การกระทบอารมณ์ อัจฉริยภาพทั้งหมดอยู่ที่การปฏิบัติ “คุณเป็นสิ่งที่คุณดำรงชีวิต” ไม่มีอะไรมากกว่านั้น พระเจ้าเป็นข้อสมมติฐานที่ล้าสมัย นับวันแต่จะค่อย ๆ หายไปเอง อย่างไรก็ตาม เราจำเป็นต้องยึดคุณค่าบางอย่างไว้ ดังนั้น เราต้องทำอะไรบางอย่างให้เห็นว่าคุณค่าเหล่านี้มีอยู่ตลอดไป ถึงแม้จะไม่มีพระเจ้า
ซาร์ตร์แก้ข้อกล่าวหาว่า ปรัชญาอัตถิภาวนิยมมิใช่มองโลกในแง่ร้ายอย่างปรัชญาของโซล่า (Emile Zola) มิได้ถือว่าคนอ่อนแอเพราะสิ่งแวดล้อมกำหนด แต่อ่อนแอเพราะขาดความรับผิดชอบถ้าเขารู้จักรับผิดชอบ เขาจะกล้าหาญได้ไม่ว่าสิ่งแวดล้อมจะเป็นอย่างไร ไม่มีปรัชญาใดแล้วที่จะมองโลกในแง่ดีมากกว่านี้เพราะสอนว่า มนุษย์เป็นผู้สร้างตัวเอง และสามารถสร้างได้ตามปรารถนา ไม่มีปรัชญาใดสมศักดิ์ศรีของมนุษย์มากกว่านี้ เพราะยกย่องมนุษย์เหนือวัตถุและสอนให้รับผิดชอบต่อคนอื่นซึ่งเป็นมนุษย์เหมือนเรา
แม้จะไม่มีลักษณะสากลของมนุษย์ ไม่มีธรรมชาติของมนุษย์ แต่ก็มีสภาพของมนุษย์ที่เป็นสภาพสากลไม่เปลี่ยนแปลง เช่น ความจำเป็นที่จะต้องมีชีวิตในโลก ทำงานและตายในโลก มนุษย์เราจะยังเลือกว่าจะปล่อยไปตามยถากรรม หรือจะเอาชนะขอบเขตของตน
อัตถิภานิยมมิใช่สอนให้กระทำไปตามอารมณ์ อย่างที่ยีด (Gide) สอน เพราะมนุษย์ต้องรับผิดชอบการเลือกทุกครั้ง ซาร์ตร์จึงเปรียบจริยธรรมแบบอัตถิภาวนิยมกับการสร้างสรรค์ทางศิลปะ คือ ต้องสร้างตนเองขึ้นมาและต้องรับผิดชอบ มนุษย์สร้างตัวเองจากศีลธรรมที่เขาเลือกเอง
เสรีภาพไม่มีจุดมุ่งหมายนอกจากตัวเอง แต่ก็ตระหนักว่าเสรีภาพของฉันขึ้นอยู่กับเสรีภาพของคนอื่นทุกคน แม้ว่าเนื้อหาของศีลธรรมจะแปรเปลี่ยนไป แต่รูปแบบเป็นสากลเสมอ คือ เจตนาที่จะทำให้ตัวเองและผู้อื่นมีเสรีภาพ การตัดสินใจแต่ละครั้งขึ้นอยู่กับสถานการณ์ Maggie Tulliver นางเอกในเรื่อง The Mill on the Floss เลือกสละคนรักแต่งงานตามธรรมเนียม ส่วน La Sanseverinaนางเอกในเรื่อง Chartreuse de Parmeเลือกสละธรรมเนียมเพื่ออยู่กินกับคนรัก ทั้งสองได้ตัดสินใจด้วยเสรีภาพและเพื่อเสรีภาพในสถานการณ์ต่างกัน นับว่าทำถูกต้องทั้งสองคน ดีกว่าคนไม่เป็นตัวของตัวเอง
มนุษยนิยมของอัตถิภาวนิยมไม่ใช่ลัทธิบูชามนุษย์อย่างของโอกุสต์ กงต์ (AugusteComte) เพราะมิได้ถือว่ามนุษย์เป็นจุดหมายปลายทาง มิได้ถือว่าความสูงส่งของมนุษย์อยู่ที่ผลสำเร็จ แต่ถือว่ามนุษย์ต้องสร้างตัวเองอยู่ตลอดเวลา ความยิ่งใหญ่ของมนุษย์อยู่ที่การสร้าง ไม่ใช่อยู่ที่ผลสำเร็จ อยู่ที่ปัจจุบัน ไม่ใช่อยู่ในอดีตหรืออนาคต
อัตถิภาวนิยมไม่เป็นศัตรูกับความเชื่อเรื่องพระเจ้า ไม่มีหน้าที่พิสูจน์ว่าพระเจ้าไม่มีอยู่ แต่ขอยืนยันแต่เพียงว่า แม้พระเจ้าจะมีอยู่ก็ไม่ได้ทำให้เกิดความแตกต่างอะไรเลย “สิ่งที่มนุษย์ต้องการคือการพบตัวเอง”