Sartre, Jean-Paul ฌองปอล ชาตร์
ผู้แต่ง : รวิช ตาแก้ว
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
ชาตร์เกิดที่กรุงปารีส นครหลวงของประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ. 1905 บิดาถึงแก่กรรมลงเมื่อซาตร์อายุได้ 2 ขวบเท่านั้น มารดาจึงพาไปอยู่กับคุณตา ซึ่งมีเชื้อสายเยอรมัน ชื่อ Charles Schwitzer ซึ่งเป็นญาติกับ Dr. Albert Schwitzer หมอสอนศาสนาที่มีชื่อเสียงโด่งดังของทวีปอาฟริกา ซาตร์ได้เขียนอัตชีวประวัติของตนเอง ชื่อ The Words, 1964 (คำพูด) เพื่อแสดงถึงความรู้สึกนึกคิดของตนเองแบบเดียวกันกับออเกิสทีน และยัง-ยากส์ รุสโซ เราจึงสามารถรู้วิวัฒนาการทางความคิดของซาตร์ได้พอสมควร
ซาตร์ชอบอ่านและเขียนตั้งแต่ยังเยาว์วัย อายุเพียง 9 ขวบเริ่มคิดว่า ต้องเป็นนักเขียนเท่านั้นจึงจะมีชีวิตอมตะ เพราะไม่เชื่อว่ามีวิญญาณอมตะ ทั้งๆที่เติบโตขึ้นในครอบครัวที่เคร่งครัดต่อศาสนาคริสต์อย่างมาก อายุได้ 12 ขวบเท่านั้น ก็ละทิ้งความเชื่อเรื่องพระเจ้าอย่างเด็ดขาด ดังมีกล่าวไว้ในอัตชีวประวัติว่า “ ณ บัดดล พระองค์ลับตาไปในท้องฟ้าสีคราม แล้วก็หายไปโดยไม่ชี้แจงอะไรเลย ข้าพเจ้าจึงพูดกับตัวเองอย่างสงบแกมงงงวยว่าพระเจ้าไม่มีจริง ข้าพเจ้าถือว่าเป็นการตัดสินใจขั้นเด็ดขาด และก็เป็นเช่นนั้นจริง เพราะข้าพเจ้าไม่เคยคิดอยากจะยกปัญหานี้ขึ้นมาทบทวนอีกเลย”
เมื่อสงครามสงบลง และเมื่อประเทศฝรั่งเศสได้รับการปลดปล่อยจากพวกนาซีของฮิตเลอร์แล้ว ซาตร์ได้ร่วมกับอารรง (RemondAron) แมร์โล ปงตี(Merleau-Ponty) โบวัวร์ (Simone de Beauvoir) กามูส์ (Albert Camus) และนักเขียนคนอื่นๆ ออกนิตยสาร ชื่อ Les Temps Modernes (The Mordern Times สมัยใหม่) มีแนวโน้มทางปลุกใจประชาชนให้เสียสละผลประโยชน์และความสุขส่วนตัวเพื่อสร้างสังคมใหม่ให้น่าอยู่กว่าเดิม พวกนี้เรียกร้องให้ปรับปรุงสังคมตามแนวปรัชญาลัทธิอัตถิภาวนิยม คือมนุษย์ทั้งโลกมีภาวะเหมือนกัน นั่นคือ ไม่มีสารัตถะ มีแต่ภาวะเสรี จึงอยู่ในความรับผิดชอบของทุกคนที่จะให้แต่ละคนรวมทั้งตนเองมีเสรีภาพอย่างแท้จริงตามสภาพความเป็นจริง ขบวนการนี้ถือคติพจน์ว่า แต่ละคนมีส่วนรับผิดชอบในความเลวร้ายที่เขาไม่พยายามป้องกัน (One is always responsible for what one does not try to prevent.) คติพจน์นี้มีผลเปลี่ยนแปลงจิตใจของคนรุ่นใหม่อย่างมาก ซาตร์เขียนแถลงความรับผิดชอบซึ่งแต่ละคนต้องมีต่อเสรีภาพของมนุษย์ทั้งโลกไว้ในหนังสือ ลัทธิอัตถิภาวนิยม คือ ลัทธิมนุษยนิยม แต่แล้วเห็นว่าพูดลอยๆ เช่นนี้มีผลน้อย จำต้องสนับสนุนลัทธิการเมืองที่ปฏิรูปสังคมให้เข้าเป้าหมายนี้ได้จริงๆ จึงตกลงใจสนับสนุนลัทธิมาร์กซิสม์และการปฏิวัติของลัทธิคอมมิวนิสม์ ครั้นเข้าใจว่าลัทธิคอมมิวนิสม์ไม่ปฏิบัติตามหลักการของลัทธิมาร์กซิสม์อย่างจริงจัง แต่แล้วในที่สุดก็เห็นว่า ควรมีการปรับปรุงความคิดของมาร์กซ์บางประการให้เหมาะสมกับสมัย จึงเสนอความคิดเห็นไว้ในหนังสือวิจารณ์เหตุผลปฏิพัฒนาซึ่งเป็นการดึงความคิดของมาร์กซ์เข้าหาลัทธิอัตถิภาวนิยมนั่นเอง
ขบวนการอัตถิภาวนิยมที่ซาตร์เป็นผู้นำอยู่นั้น ได้มีผลต่อความรู้สึกนึกคิดและชีวิตความเป็นอยู่ของคนรุ่นใหม่อย่างมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ชาวฝรั่งเศส ร้านกาแฟ เดอ ฟลอร์ (DeFlore) ซึ่งซาตร์ชอบใช้เป็นที่นัดพบได้กลายเป็นสถานที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ไปเข้าร้านนั่งดื่มกาแฟ คำอัตถิภาวนิยมกลายเป็นคำที่ใช้สำหรับการมีชีวตแหวกแนว ทรงผมแหวกแนว แบบเครื่องแต่งตัวแหวกแนว ฯลฯ อยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ทำให้นักปราชญ์หลายคนไม่อยากได้ชื่อว่าเป็นนักอัตถิภาวนิยม แต่ซาตร์ยังคงมีมานะเขียนหนังสือเผยแพร่ขบวนการต่อไป ซึ่งในระยะหลังนี้มีอาทิเช่น นวนิยายเรื่องยาว ชื่อว่า หานทางสู่เสรีภาพ ซึ่งประกอบด้วย 3 เล่มคือ ยุคเหตุผล, รอ, และ ความตายในวิญญาณ,และบทละครอีกจำนวนมาก เช่น ศพไร้ญาติ, โสเภณีน่านับถือ, มือเปื้อน, ปิศาจกับพระเจ้า, นักโทษประหารแห่งอัลโตนา เป็นต้น ใน ค.ศ. 1960 พิมพ์หนังสืออัตชีวประวัติของตนเอง ชื่อ คำพูด เพื่อชี้แจงเบื้องหลังต่างๆ ของความคิดของตนเอง ได้เคยสัญญาว่าจะเขียนเกี่ยวกับปรัชญาจริยะ แต่ไม่ได้เขียน
ทางด้านการเมือง แม้ซาตร์จะเป็นคนหนึ่งที่กระตุ้นให้ประชาชนสนใจการเมือง แต่ตนเองไม่เคยเข้าเป็นสมาชิกของพรรคใดเลย นอกจากครั้งหนึ่งร่วมก่อตั้งพรรค RassemblementDémocratiqueRévolutionnaireในปี ค.ศ. 1948 แต่อยู่ได้ไม่นานก็ล้ม อย่างไรก็ตาม ซาตร์วางตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อลัทธิทุนนิยมและลัทธิเผด็จการทุกรูปแบบอย่างเหนียวแน่น จึงเป็นกระบอกเสียงให้โลกที่สามอยู่เสมอได้เคยคัดค้านนโยบายของฝรั่งเศสในแอลจีเรีย สนับสนุนการปฏิวัติของชาวคิวบา ประณามการแทรกแซงของอเมริกาในเวียดนาม ได้เป็นประธานของมูลนิธิรัสเซลล์เพื่อสอบสวนอาชญากรในสงครามเวียดนามในปี ค.ศ. 1966 คณะกรรมการรางวัลโนเบลตัดสินให้รางวัลสาขาวรรณกรมแห่งปี ค.ศ. 1964 แต่ซาตร์ไม่ขอรับ จึงทำให้ชื่อเสียงลือกระฉ่อนมากขึ้น