reasoning การใช้เหตุผล
ผู้แต่ง : ปราโมทย์ หม่อมศิลา
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
การใช้เหตุผลเป็นกิจกรรมในชีวิตประจำวันของมนุษย์ เหตุผลคือหลักฐานหรือสิ่งที่ยืนยันความเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่งว่าเป็นจริง เมื่อจะทำอะไรก็ตามเราต้องคิดก่อนว่าเราควรทำหรือไม่ เพราะเหตุใด นี่คือการถามหาเหตุผลมาสนับสนุนความคิดและการกระทำของตัวเอง การใช้เหตุผล (reasoning) เป็นกระบวนการทางความคิดที่พยายามแสดงว่าข้อสรุปควรเป็นที่ยอมรับเพราะมี เหตุผลหรือหลักฐานมาสนับสนุน นอกจากนี้ เรายังต้องอธิบายเหตุผลนี้ให้คนอื่นเข้าใจและยอมรับด้วย เมื่อได้ฟังเรื่องราวบางอย่างเราอาจไม่เชื่อทั้งหมด ในการเลือกว่าเรื่องใดควรเชื่อหรือไม่ควรเชื่อ เราก็ต้องใช้เหตุผลในการพิจารณาการตัดสิน เมื่อเรามีความคิดเห็นไม่ตรงกันหรือมีปัญหาขัดแย้ง เราก็สามารถยุติความขัดแย้งนี้ได้โดยใช้เหตุผล ใครมีเหตุผลดีกว่าข้อสรุปของเขาก็จะเป็นที่ยอมรับได้มากกว่า เช่น การที่ชาวอาณานิคมจับชาวนิโกรไปเป็นทาสในไร่นาของตน เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างนัก เพราะชนทุกผิวเป็นมนุษย์มีปัญญา การพิสูจน์อย่างนี้เรียกว่า นิรนัย
บางครั้งการวิเคราะห์การอ้างเหตุผลเพื่อตัดสินว่าถูกต้องหรือดีพอที่จะยอมรับได้หรือไม่นั้น ไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้โดยง่าย ถ้าปราศจากหลักเกณฑ์มาช่วยในการพิจารณา การหากฎเกณฑ์มาวินิจฉัยการใช้เหตุผลว่าถูกหรือผิดอย่างไรจึงเป็นเรื่องของตรรกวิทยา (logic) ตรรกวิทยา คือ การศึกษา กฎเกณฑ์การใช้เหตุผล
เหตุผล คือ หลักฐานหรือสิ่งที่ยืนยันความเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่งว่าเป็นจริง การอ้างเหตุผล คือ การเสนอหลักฐานเพื่อสนับสนุนหรือยืนยันว่าข้อสรุปเป็นจริง การอ้างเหตุผลจะเกิดเมื่อเรามีความเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่งแล้วอยากให้คนอื่นเชื่อด้วยเหตุผล เป็นศักยภาพทางความคิดของมนุษย์ทำให้มนุษย์เหนือกว่าสัตว์อื่น เพราะมนุษย์สามารถใช้เหตุผลในการแสวงความจริงหรือความรู้ และคิดสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ
เหตุผลเป็นศักยภาพทางความคิดของมนุษย์ ในการเข้าใจถึงการเชื่อมโยงที่จำเป็นต่าง ๆ เช่น การเชื่อมโยงที่จำเป็นของแต่ละเหตุการณ์ (รู้ว่าสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้จึงเกิด) การเชื่อมโยงเช่นนี้สามารถนำไปสู่การคาดเดาเชื่อมโยงการเกิดขึ้นของสิ่งต่าง ๆ ได้ เช่น ในอดีตเราเห็นสองเหตุการณ์คือ 1) เมฆดำ 2) ฝนตก เกิดขึ้นติดต่อกันเสมอ นำไปสู่การใช้เหตุผลเข้าใจได้ว่าสองเหตุการณ์นี้มีความเชื่อมโยงที่จำเป็น ระหว่างกัน คือ เมื่อมีเมฆดำแล้วฝนจะตกเหตุผลในแง่ของศักยภาพทางความคิดของมนุษย์ คือการเข้าใจในการเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การเกิดขึ้นของความรู้ใหม่ ดังเช่น ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ได้จากการทดลองต่าง ๆ เช่น จากการทดลองต้มน้ำหลาย ๆ ครั้ง แล้วพบว่าน้ำจะเดือดที่หนึ่งร้อยองศาเซลเซียสทุกครั้ง นำไปสู่ข้อสรุปอันเป็นความรู้จากการทดลองว่า “น้ำมีจุดเดือดที่หนึ่งร้อยองศา” ซึ่งหมายความว่าไม่ว่าเราจะต้มน้ำสักกี่ครั้งทั้งในอดีตหรืออนาคตน้ำจะเดือดที่หนึ่งร้อยองศาเสมอ เราเรียกการพิสูจน์แบบนี้ว่า อุปนัย
นักปรัชญาให้ความสำคัญกับเหตุผลมากเป็นพิเศษเพราะถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการแสวงหาความรู้ของมนุษย์ มนุษย์รู้จักใช้เหตุผลตั้งแต่เริ่มเป็นมนุษย์ และกิจกรรมการใช้เหตุผลนี้เองที่ทำให้มนุษย์สามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้สูงกว่าสัตว์ชนิดใดในโลก