rationalization and goodness ปมเข้าข้างตัวเองกับการทำดี
ผู้แต่ง : รวิช ตาแก้ว
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
“ปมเข้าข้าง” มีอาการชอบแก้ตัวเมื่อทำผิดทั้ง ๆ ที่รู้ว่าตนผิดจริง โดยพยายามมหาเหตุผลมากลบเกลื่อนให้เห็นว่าจำเป็นต้องทำเช่นนั้นหรือมิฉะนั้นก็หาข้ออ้างต่าง ๆ นานาสร้างบรรยากาศให้รู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอะไร
ผู้ที่มีปมชนิดนี้จะมีนิสัยชอบพูดโกหกเป็นประจำ แม้เป็นเรื่องไม่จำเป็นและไม่น่าจะโกหกก็ยังโกหก โดยตัวเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะโกหกไปทำไมแต่ก็โกหกไว้ก่อน โดยปกติคนเราย่อมมีสัญชาตญาณป้องกันตัวอยู่ หากใครมากล่าวโทษโดยที่เราไม่รู้ว่าผิดจริง เราย่อมมีปฏิบัติยาป้องกันตัวทันที
ปมที่มีความเข้มข้นระดับนี้ย่อมจะมีประโยชน์สำหรับการดำรงชีพอย่างปุถุชน หากจะเป็นมหาบุรุษก็พึงขจัด วิธีขจัดปมนี้ก็คือฝึกเป็นคนสู้ความจริงและอยู่ในความจริงเสมอ หากพลั้งเผลอกล่าวเท็จหรือแก้ตัวพล่อย ๆ ออกไปครั้งใด ให้รีบกลับไปคืนคำเสีย แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ควรหาโอกาสคืนคำให้ได้ เป็นการลงโทษตัวเองและฝึกฝนตนเองจนกว่าจะชินแล้วก็ลืมเรื่องเก่าไปเสีย มนุษย์เรามีความโน้มเอียงเช่นนี้ไม่มากก็น้อย ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากสัญชาตญาณป้องกันตัวเองเพื่อการอยู่รอด
แต่ทว่ามนุษย์เรามีสติปัญญา จึงต้องให้สัญชาตญาณแสดงออกตามเหตุผล นั่นคือ มีเหตุผลพิสูจน์ได้ว่าการกระทำของเรานั้นไม่ก้าวก่ายสิทธิของผู้อื่น และไม่ขัดต่อความรับผิดชอบของเราในด้านอื่นๆ เราจะสังเกตได้ว่าในกรณีพิพาททั้งหลายไม่ว่าในระดับบุคคล ระดับนิติบุคคลและระดับชาติ คู่กรณีต่างก็มีเหตุผลเข้าข้างตัวเองด้วยกันทั้งนั้น
การเดินขบวนที่บ้าคลั่งนั้น ผู้เดินขบวนมักมองไม่เห็นว่าตัวเองวางตัวไม่ถูกต้อง และอาจจะเรียกร้องสิ่งที่ผิดกติกาสังคม แต่ทว่ามีเหตุผลมากมายที่จะพิสูจน์ได้ว่า พวกตนกำลังทำเพื่อมนุษยธรรมชาติและความเป็นธรรม จึงเห็นได้ว่าการปล่อยให้มนุษย์เรามีจุดบกพร่องในแง่นี้กันมาก ๆ อาจจะก่อให้เกิดความหายนะอย่างคาดไม่ถึง
วิธีแก้ไขก็คือ ให้ศึกษาปรัชญาแบบวางตัวเป็นกลาง และศึกษาจริยศาสตร์แบบเข้าใจกันด้วยการเสวนา จึงน่าจะมีการสอนและการเรียนปรัชญาและจริยศาสตร์ตามแนวดังกล่าวสำหรับบุคคลระดับต่าง ๆ อย่างพอเพียง