pyramnid’s philosophy ปรัชญาปิรามิด
ผู้แต่ง : รวิช ตาแก้ว
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
ชาวอียิปต์มีบันทึกประวัติศาสตร์ของตนยาวนานประมาณ 3,000 ปี คือตั้งแต่ประมาณ ก.ค.ศ.3000 ถึง ก.ค.ศ.300 อันเป็นปีที่ตกเป็นส่วนหนึ่งของมหาอาณาจักรโรมัน ชาวอียิปต์โชคดีได้อาศัยสองฝั่งลุ่มแม่น้ำไนล์ตั้งหลักแหล่งทำกินที่มีความอุดมบริบูรณ์ จึงมีเวลาเหลือให้คิดและทำตามความใฝ่ฝัน เช่น สร้างปิรมิดด้วยแรงงานที่สมัครใจเพราะต้องการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
ในระหว่างสามสหัสวรรษนี้ ปัญญาของชาวอียิปต์ได้สร้างความเชื่อขึ้นมาตอบสนองสัญชาตญาณอยากสบายใจว่า คนเราอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเพื่อพิสูจน์ความสวามิภักดิ์ต่อเทพ ใครที่ซื่อสัตย์ต่อเทพ ชีวิตหน้าจะดีขึ้นตลอดไป หน้าที่ที่สำคัญของมนุษย์คือปฏิบัติตามน้ำพระทัยของเทพ นี้เป็นการตอบสนองสัญชาตญาณด้วยกระบวนทรรศน์ที่หนึ่ง
ส่วนนักปราชญ์อียิปต์ซึ่งส่วนมากจะได้แก่พวกพระที่สนใจค้นคว้าหาความรู้ จะเชื่อกระบวนทรรศน์ที่ 2 คือมีกฎเกณฑ์ ความรู้จึงได้แก่ความรู้กฎเกณฑ์และความฉลาดคือการแสวงหากฎเกณฑ์ จนแสดงออกให้ผู้อื่นเข้าใจได้ บันทึกทั้งหลายจึงเป็นสื่อแสดงกฎเกณฑ์ออกด้วยสัญลักษณ์ เพราะยังไม่มีศัพท์และระเบียบความคิดพอสำหรับใช้อธิบายตรง ๆ เมื่อพวกเขาพบความจริงที่สลับซับซ้อน พวกเขาก็ต้องพยายามเปรียบเทียบกับสิ่งที่รู้ก่อนและแสดงออกเป็นตำนานปรัมปรา
ชาวอียิปต์เชื่อว่าเทพทั้งหลายมีจริง แต่เรื่องเหล่านั้นจะจริงตามตัวอักษร หรือตามการตีความโดยสัญลักษณ์ก็แล้วแต่กระบวนทรรศน์ แต่ทุกคนเชื่อว่าเทพมีจริง เทพคลุกคลีอยู่กับชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ที่เป็นบริวาร วิญญาณของผู้ตายยังคงเป็นบริวารของเทพต่อไป บางครั้งจะต้องกลับมาเป็นมนุษย์ใหม่ เพื่อทำพันธกิจบางประการ หากร่างเดิมใช้ไม่ได้แล้วก็ต้องเกิดเป็นทารกใหม่ ถ้ารักษาร่างเดิมไว้ได้ก็จะเข้าร่างเดิม ส่วนฟาโรห์นั้น ในตอนแรกได้รับความเชื่อถือว่าเป็นองค์อวตารของเทพ ผู้คนจึงยอมสละเวลาและแรงงานเพื่อสร้างปิรามิดถวายเก็บพระศพด้วยความเหนื่อยยากยิ่ง หากคิดถึงว่าในขณะนั้นยังไม่มีเครื่องไม้เครื่องมืออะไรมากนัก ขณะสร้างปิรามิดนั้นยังไม่รู้จักใช้โลหะ พวกเขาต้องใช้หินที่แข็งกว่าตัดหินที่อ่อนกว่า เหมืองหินก็อยู่ไกล ต้องเคลื่อนย้ายกันมาเป็นระยะทางไม่ต่ำกว่า 10 ก.ม. จึงเห็นได้ว่าต้องใช้ศรัทธาแก่กล้าจริง ๆ จึงร่วมมือกันทำได้จนสำเร็จ แต่หลังจากเสียอำนาจให้กับชาวฮีกซัส (Hyksos) ชั่วระยะหนึ่งแล้ว คณะปุโรหิตถือสิทธิเลือกตั้งฟาโรห์โดยแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนเทพเท่านั้น ตั้งแต่นั้นชาวอียิปต์ก็ไม่มีศรัทธาพอจะสร้างปิรามิดกันอีก คงปล่อยให้ร่างสูญสลายไปเช่นเดียวกับศพสามัญชน แต่พวกเขาจะมีศรัทธาสร้างวิหารแทน
ชาวอียิปต์โบราณไม่ชอบเสี่ยงของใหม่ เพราะเชื่อว่าของเดิมปลอดภัยดีกว่าเสี่ยงกับของใหม่ จึงอนุรักษ์ความเชื่อดังกล่าวข้างต้นไว้ตลอดเวลา 3 สหัสวรรษ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็ไม่มีการปรับตัว หากไม่มีกระแสความคิดอื่นมาท้าทายก็คงอยู่ต่อไปได้เรื่อย ๆ ครั้นถูกมหาอาณาจักรโรมันท้าทาย ก็ไม่มีพลังพอที่จะยืนหยัดต่อไปได้ จำต้องยินยอมให้อารยธรรมโรมันเข้าครอบครอง ต่อจากนั้นก็พัฒนาไปตามกระแสที่มหาอาณาจักรโรมันจะพาไป โชคดีที่ก่อนหน้านั้น นักปราชญ์กรีกได้พยายามมาศึกษาเอาไปพัฒนาในวัฒนธรรมกรีก จึงไม่เป็นการสูญเปล่าเสียทีเดียวที่ชาวอียิปต์ได้พิชิตอวิชชามาได้มากมายตลอดเวลา 3,000 ปี และต้องสูญเสียชาติไปโดยถูกกลืนเข้าในมหาอาณาจักรโรมัน และต่อมาก็ถูกชาวอาหรับเข้ายึดครองมาจนทุกวันนี้