psychical structure and goodness โครงสร้างของจิตกับการทำดี
ผู้แต่ง : เอนก สุวรรณบัณฑิต
ผู้ปรับแก้ :กีรติ บุญเจือ
โครงสร้างทางจิตวิทยาของบุคคลมีอิทธิพลไม่มากก็น้อยต่อความสำนึกและการตัดสินใจ ดังนั้น วิชาจิตวิทยาจึงมีความสัมพันธ์กับจริยธรรม จิตวิทยาส่วนที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมเราเรียกว่าจิตวิทยาจริยะ (Psychology of Ethics, Ethical Psychology) เช่น เดียวกับจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับสังคม เราเรียกว่าจิตวิทยาสังคม (Social Psychology) และจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เราเรียกว่า จิตวิทยาการศึกษา (Psychology of Education) จิตวิทยาจริยะกล่าวถึงอิทธิพลภายในที่มีต่อความประพฤติ (ในส่วนของพฤติกรรมและการตัดสินใจ)
โครงสร้างทางจิตวิทยาที่มีความสัมพันธ์กับความสำนึกและการตัดสินใจของมนุษย์มีพันธุกรรม ฮอร์โมน ภูมิปัญญา สุขภาพ และปม เรื่องที่กล่าวถึงในบทนี้แป็นเพียงอิทธิพลภายในต่อความประพฤติ (internal influence to conduct) มิใช่ตัวกำหนดความประพฤติ ตัวอย่างเช่น ผู้ที่เกิดจากพ่อแม่ที่เป็นโจร มิได้หมายความว่าเขาจะต้องเป็นโจรตามพ่อแม่ หากหมายความเพียงแต่ว่า เขาผู้นั้นมีโอกาสเป็นโจรได้ง่ายกว่าผู้อื่นและเป็นคนมีคุณธรรมได้อยากกว่าผู้อื่น หากเขาตั้งใจฝึกคุณธรรมจริง ๆ เขาก็สามารถเป็นคนดีได้ ในทำนองเดียวกันถ้าหากผู้ที่เกิดจากพ่อแม่ที่มีคุณธรรมสูง ก็มีโอกาสเป็นคนดีได้ง่าย แต่ก็ไม่มีอะไรค้ำประกันได้ ถ้าหากเขาไม่ระวังตัว เขาอาจจะกลายเป็นโจรได้ ข้อควรตระหนักก็คือ หากเราต้องการให้ลูกของเราเป็นคนดี พึงแสวงหาคู่ชีวิตที่ดีและปฏิบัติคุณธรรมเสียเองก่อน (ดู external influence to conduct*)