Protestantism and network นิกายโปรเตสแตนต์กับเครือข่าย
ผู้แต่ง : รวิช ตาแก้ว
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
ความระอาใจต่อบทบาทของสันตปาปาคงได้ค้างคาในใจของคริสตชนในยุโรปมานาน แต่ไม่มีใครกล้าแข็งข้อไม่ยอมรับอำนาจ เพราะมันหมายถึงการตกนรกเสียสวรรค์ตลอดนิรันดร ใครจะกล้าเสี่ยง อย่างไรก็ต้องยอม
ครั้นมีคนรู้เรื่องศาสนาดี ๆ และเชี่ยวชาญทางคัมภีร์ไบเบิลอย่างลูเธอร์ แคลวิน ซวีงลิ เป็นต้น กล้ายืนยันและปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างว่า กล้ารักพระเจ้าและปฏิบัติตนตามที่เข้าใจจากพระคัมภีร์โดยตรง โดยไม่ต้องขึ้นกับสันตปาปา ก็เลยกล้าตามกันตามลำดับ ยิ่งมีคนกล้าแยกตัวมากขึ้น ก็ยิ่งทำให้ผู้ลังเลใจอยู่กล้าตัดสินใจแยกตัวง่ายเข้าทุกที แต่ผู้ไม่มีเหตุผลต้องแยกหรือไม่อยากเสี่ยงก็มี ผู้แยกกับผู้ไม่แยกจึงก้ำกึ่งกัน
หลักปฏิบัติใหม่ของโปรเตสแตนต์เอื้อประโยชน์ต่อผู้แยกตัวมากมายหลายประการ เช่น ไม่ต้องส่งส่วยบำรุงสำนักสันตปาปา ให้กู้กินดอกเบี้ยได้ ค้าขายตั้งราคาเอากำไรได้ตามที่เห็นควร ค้นคว้าวิชาการได้ตามสบายโดยไม่ต้องกลัวศาลศาสนาลงโทษ เท่านี้ก็น่าจูงใจเหลือเกินแล้ว โดยไม่จำเป็นต้องคิดเลยไปถึงว่าจะเป็นบาทหลวงได้โดยไม่ต้องถือโสด ไม่ต้องปฏิบัติศาสนกิจสลับซับซ้อน ไม่ต้องถูกขู่ว่าจะถูกพระเจ้าลงโทษอย่างจู้จี้จุกจิก ฯลฯ ในดินแดนโปรเตสแตนต์อุตสาห-กรรมจึงก่อตัวและพัฒนาอย่างมั่นใจ เพราะพ่อค้ากล้าลงทุน เมื่อร่ำรวยขึ้นก็ไม่เสียดายที่จะสละกำไรส่วนหนึ่งส่งเสริมศิลปินและนักวิจัย เพื่อตนเองจะได้เสวยความสวยงามและความสะดวกสบายที่เกิดขึ้นด้วย ศิลปะด้านต่าง ๆ และวิชาการด้านต่าง ๆ จึงได้โอกาสพัฒนา วจนศูนย์นิยมจึงเฟื่องต่อไป เพราะเชื่อว่าเป็นแนวทางที่จะพบความจริงที่ซ่อนเร้นและเป็นประโยชน์ต่อไปเรื่อยๆ ผู้แหวกแนวคงมีประปรายเป็นยาดำแทรก
อย่างไรก็ตามเมื่ออำนาจการเมืองเข้ามามีบทบาทในการควบคุมผู้นับถือศาสนา ต้องการให้มีเอกภาพในคริสตจักรเพื่อความมั่นคงของชาติ บางแห่งมีความเข้มงวดไม่น้อยไปกว่าการเข้มงวดของคริสตจักรคาทอลิกในอิตาลีและสเปน