projection complex and goodness ปมโยนกลองกับการทำดี
ผู้แต่ง : เอนก สุวรรณบัณฑิต
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
ปมโยนกลองเป็นความโน้มเอียงที่จะรู้สึกว่าไม่ใช่ธุระของฉัน มีคนอื่นต้องรับผิดชอบก่อนฉัน หากมีปมนี้กันมาก ๆ จะไม่มีใครยอมรับผิดชอบต่างคนต่างจะถือคติว่าตัวใครตัวมัน สังคมเช่นนี้จะสับสนวุ่ยวาย ผู้ทำผิดคิดร้ายจะลอยนวลอาชญากรรมจะเกิดขึ้นอย่างหนาตา วิธีแก้ไขก็คือ ต้องฝึกให้เป็นคนใจงาม มีความสุขกับการให้บริการแก่ทุกคนโดยไม่เลือกหน้า มีโอกาสทำดีได้หากไม่หนักหนาเหลือบ่ากว่าแรงแล้วจะต้องกุลีกุจอจัดการทันที โดยไม่ต้องรอให้ใครไหว้วานหรือบังคับ เรื่องนี้ก็สืบเนื่องมาจากสัญชาตญาณป้องกันตัวเองให้อยู่รอดเหมือนกัน ทำให้เรามีความโน้มเอียงที่จะโยนความผิดให้แก่ผู้อื่น ดังคำเปรียบเทียบของพระเยซูว่า เราชอบเห็นผงในตาของคนอื่น แต่ซุงทั้งดุ้นอยู่ในตาของเรา เรากลับมองไม่เห็น
ตัวอย่างเช่นจากแบบสอบถามเพื่อปรับปรุงการบริหารในมหาวิทยาลัย จะพบว่าผู้บริหารส่วนมากตำหนิอาจารย์และนิสิตว่าไม่ให้ความร่วมมืออย่างพอเพียง ส่วนอาจารย์และนิสิตก็มักจะตำหนิว่าฝ่ายบริหารไม่รับฟังความคิดเห็นและไม่กระจายอำนาจอย่างพอเพียง แบบสอบถามเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการศึกษามักจะได้คำตอบจากครูว่านักเรียนตั้งใจเรียนไม่พอ ส่วนนักเรียนก็มักจะกล่าวหาว่าครูสอนไม่ตี นักเรียนที่สอบตกมักจะอ้างว่าครูออกข้อสอบไม่เข้าท่า การสอบถามครอบครัวที่ไม่สมหวังส่วนมาก สามีจะกล่าวโทษภรรยาและภรรยาจะกล่าวโทษสามี ในการแข่งขันกีฬา ฝ่ายแพ้มักจะกล่าวหาว่าฝ่ายชนะเอาเปรียบบ้าง กรรมการไม่ยุติธรรมบ้าง น้อยนักจะยอมรับว่าฝ่ายของตนยังอ่อนหัดนอกจากที่พูดโดยมารยาท
การโยนกลองยังอาจแสดงออกในลักษณะที่ลึกซึ้งกว่านี้ โดยการวิพากษ์วิจารณ์จุดบกพร่องของตนเองในตัวผู้อื่น คนขี้ขลาดชอบดูถูกคนอื่นว่าตาขาว ผู้ที่มีความอ่อนแอทางเพศชอบด่าคนอื่นในทางชั่วช้า ผู้ที่มีความคิดสับสนชอบวิจารณ์หนังสือของคนอื่นว่าไม่ชัดเจนพอ ดังนี้เป็นต้น
การแก้ไขเรื่องนี้ควรศึกษาเรื่องเทวรูป 4 ของเบเคินให้เข้าใจดี ๆ แล้วฝึกมองตนอยู่เสมอ เมื่ออยากจะตำหนิใครหรือมีความจำเป็นจะต้องวิจารณ์เรื่องใด ก็ให้คิดถึงตัวเองเสียก่อนว่ามีจุดบกพร่องอย่างนั้นด้วยหรือไม่ จะรู้จักวางตัวเป็นกลางพิพากษาตัวเองได้เช่นนี้ ก็โดยศึกษาปรัชญาแบบวางตัวเป็นกลางและจริยศาสตร์แบบเข้าใจกัน และควรอ่านอยู่เรื่อย ๆ เป็นประจำ