Roger Bacon โรเจอร์ เบเคิน
ผู้แต่ง : รวิช ตาแก้ว
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
โรเจอร์ เบเคิน 1214 -1292 ) เกิดที่อิสเชลเทอร์ (IIchertre ) ประเทศอังกฤษ เป็นลูกศิษย์ของราเบิร์ท เกรทเฮด (Robert GreatHead หรือ Grosseteste ฉายา ฺBishop of Lincoln,1175-1253 ) ที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด
โรเจอร์ เบเคินสอนที่มหาวิทยาลัยปารีส ในคณะศิลปศาสตร์ พิศวงผลงานของพีเทอร์แห่งมารีกูร์ (Peter of Maricourt) ซึ่งค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์จนสามารถใช้เลนส์เผาเชื้อเพลิงในระยะไกลได้ นอกจากนั้นยังมีความรู้เรื่องแม่เหล็กและสนใจหาความรู้โดยการทดทองแทนที่จะคิดเอาเอง
โรเจอร์ตำหนิอาจารย์ในมหาวิทยาลัยปารีสว่าไม่รู้ภาษาวิชาการและวิทยาศาสตร์อย่างเพียงพอจึงคิดอะไรในวงแคบ จึงกลับมาสอนที่ออกซ์ฟอร์ดในปี ค.ศ. 1247 มุ่งทดลองทางด้านวิทยาศาสตร์ อัลเคมี และโหราศาสตร์ ใช้หนังสือความลับแห่งความลับ (ลต. Secretum Secretorum) เป็นคู่มือหลัก โดยคิดว่าเป็นงานนิพนธ์ ของเอเริสทาเทิล ในขณะเดียวกันใช้คณิตศาสตร์เข้าช่วยคำนวณด้วย และศึกษาศาสนศาสตร์ควบคู่ไปอีกทางหนึ่ง
อารมณ์ที่รุนแรงทำให้โรเจอร์เป็นผู้รอบรู้และมีบุคคิลภาพซับซ้อน ปี ค.ศ. 1257 เข้าถือพรตในคณะแฟรงเลิสเคิน ถูกห้ามสอนและเผยแผ่ความคิด แต่ก็ยังค้นคว้าและเขียนเก็บไว้ จนถึงปี ค.ศ. 1266 สันตะปาปาเคลเมินท์ที่ 6 (Pope Clement VI) รับสั่งให้ส่งผลงานค้นคว้า ไปให้พิจารณา แต่สันตะปาปาสิ้นพระชนม์เสียก่อน
ต้นฉบับที่โรเจอร์ส่งไปถวายยังอยู่ในหอสมุดวาติกันจนทุกวันนี้ งานนี้โรเจอร์เรียกว่าตำราใหญ่ (ลต.Opus Majus ) ต่อมาสังเขปลงเป็นตำราเล็ก (ลต. Opus Minus ) และตำราเล่มสาม (ลต. Opus Tertium ) สันตะปาปาองค์ต่อมาไม่สนพระทัยการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงทำให้โรเจอร์ถูกเพ่งเล็งและถูกจำคุก และถึงแก่มรณกรรมในคุก ระหว่างถูกคุมขังใช้เวลาว่างสรุปความคิดทั้งหมดลงเป็น สังเขปเทววิทยาศึกษา (ลต. Compendium Studii Theolgiae) ชี้ให้เห็นว่าเทววิทยาต้องมีพื้นฐานบนปรัชญาและปรัชญาต้องมีพื้นฐานบนวิทยาศาสตร์ อันเป็นแนวทางที่อไควเนิสนำมาใช้ในการสร้างระบบความคิดของตนเช่นกัน