postmodern religiosity ความต้องการศาสนาแบบหลังนวยุค
ผู้แต่ง : ศุภชัย ศรีศิริรุ่ง
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
กระแสหลังนวยุคของกระบวนทรรศน์ที่ 5 จะบอกว่าความต้องการศาสนาไม่ใช่เป็นอัตนัยล้วน ๆ แต่เป็นทั้งอัตนัยและปรนัยหรือแสวงวัตถุ (intentional) ตามคำแนะนำของฮูสเซิร์ล (Edmund Husserl) หลังนวยุคนิยมเชื่อว่ามีส่วนวัตถุวิสัยในความต้องการศาสนา ส่วนที่เป็นอัตวิสัยก็มีด้วย และส่วนนี้สูงส่งและลึกซึ้งเกินกว่าที่จะอยู่ในกรอบของวิทยาศาสตร์ เราต้องไม่ลืมจุดนี้ด้วย การศึกษาศาสนาจึงจะสนุก
การค้นคว้าศาสนาเชิงวิทยาศาสตร์ดังที่กงต์ (Auguste Comte) ไทเลอร์ (Tylor) เฟรเซอร์ (Frazer) และคนอื่น ๆ อีกมากค้นคว้าไว้นั้น นับว่ามีคุณค่ามากทางวิชาการไม่ควรที่ใครจะมองข้ามหรือประฌามในนามของศรัทธาทางศาสนา แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ควรใช้เป็นข้ออ้างสรุปว่าศาสนาเป็นแค่วิทยาศาสตร์ มีผู้ให้ความสำคัญผิดถึงกับเอาศาสนามาเป็นเงื่อนไขให้แบ่งแยกและทะเลาะวิวาทกัน
แต่ก็ไม่ควรที่จะแก้ปัญหาโดยการเลิกเชื่อศาสนา เพราะการมีศรัทธาต่อศาสนาแบบยึดเหนี่ยวแต่ไม่ยึดติดนั้นเป็นไปได้ คือยึดเป็นที่พึ่งโดยเชื่อว่าสัจธรรมแห่งศาสนามีจริง แต่ไม่ต้องยึดติดว่าของฉันนี้เท่านั้นที่เป็นสัจธรรม ของคนอื่นผิดหมด เราไม่ยึดติดตรงนี้ เราจึงเคารพศรัทธาของกันและกันด้วยจริงใจและจริงจัง มีองค์กรอิสระ (NGO) หลายองค์กรในปัจจุบันที่จัดตั้งขึ้นด้วยเป้าหมายที่จะส่งเสริมความคิดและการปฏิบัติดังกล่าว