postmodern ethic จริยธรรมหลังนวยุค
ผู้แต่ง : ศุภชัย ศรีศิริรุ่ง
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
การค้นพบใหม่ทางจริยะของปรัชญาหลังนวยุคก็คือ พบว่าเรื่องจริยธรรมยิ่งสอนความประพฤติของมนุษย์ก็ยิ่งเสื่อม จึงพยายามค้นหาสาเหตุด้วยการวิเคราะห์ พบว่าความดีของความประพฤติเป็นคุณค่าที่เกิดขึ้นจากการเลือนรางในการใช้ภาษา มิได้เป็นคุณค่าที่มีจริง แต่มนุษย์เราพากันเชื่อว่ามีเพราะอิทธิพลของการค่อย ๆ เปลี่ยนความหมายในภาษาที่ใช้ เราจึงควรค้นคว้าให้เข้าใจความเป็นมาของความเข้าใจผิดต่าง ๆ ในทางจริยะโดยการสำรวจดูการใช้ภาษาของมนุษย์เรา เมื่อเข้าใจดีว่าคุณค่าต่าง ๆ ทั้งคุณค่าทางจริยะและคุณค่าอื่น ๆ ล้วนแต่เป็นการยึดมั่นที่ไร้สาระทั้งสิ้น คนเราก็จะเลิกยึดถือคุณค่าทุกอย่าง
ปัญหาต่าง ๆ ในสังคมก็จะหมดไป ทุกคนจะอยู่อย่างแบ่งปันกินแบ่งกันใช้ เพราะไม่ยึดมั่นกับอะไรทั้งสิ้นจึงไม่รู้จะกอบโกยเอาไว้ทำไม ผู้ริเริ่มความคิดนี้ได้แก่ แอร์ (Ayer) ลัทธินี้ได้ชื่อว่าลัทธิภาษาวิเคราะห์และจริยศาสตร์ที่ทำการค้นคว้าแบบนี้ได้ชื่อว่าอภิจริยศาสตร์ (Metaethics)
ในทางปฏิบัติ เราไม่แน่ใจได้ว่าจะชักชวนให้ทุกคนเลิกการยึดมั่นถือมั่นได้อย่างเด็ดขาดเมื่อใด ในขณะนี้เราแน่ใจว่าคนส่วนมากในสังคมยังยึดถือกันต่าง ๆ นานา หาจุดร่วมกันยังไม่ได้ ดังนั้นแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดในขณะนี้ก็คือ ใช้หลักการที่ดี ๆ ทุกอย่างมาช่วยในด้านต่าง ๆ เช่น ในการให้การศึกษาอบรมเด็นจนถึงหนุ่มสาวให้ใช้หลักการของมิล ในการจูงใจคนสูงอายุที่มีประสบการณ์ในชีวิตมามากให้ใช้หลักการของคานท์ ในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมาย การสอบสวน การตัดสินคดีความ ให้ใช้หลักการของเบนเธิม ในเวลาเดียวกันก็ให้ความสำคัญแก่ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามประจำถิ่น ยกย่องให้เห็นความศักดิ์สิทธิ์ และชักชวนให้ผู้มาใหม่เลื่อมใสเพื่อความเป็นปึกแผ่น ส่งเสริมทุกศาสนาให้มีบทบาทอย่างอิสระจากการเมือง ดังนี้เป็นต้น
ส่วนอภิจริยศาสตร์ก็ให้ใช้ในรูปของปรัชญาวิเคราะห์ เพื่อสร้างบรรยากาศแห่งความเข้าใจอันดีต่อกัน แต่พัฒนากลายเป็นวิธีคิดแบบอรรถปริวรรต (hermeneutics) ได้ความคิดใหม่ออกมาเป็นปรัชญาหลังนวยุค (postmodernism) ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 สาย คือ สายสุดขั้ว (extreme) ซึ่งชักชวนให้รื้อถอนของเก่าทั้งหมด (deconstruction) และสายมัชฌิมาสายกลาง (moderate) ซึ่งชักชวนให้ย้อนอ่านและไม่ค้านทิ้งสิ่งใดเลย (Reread all, reject none) กล่าวคือไม่ควรจะละเลยหรือมองข้ามคุณค่าทางจริยธรรมและศีลธรรมไม่ว่าในรูปแบบใด ที่ยังทำให้ชีวิตมีความหมาย แต่เสวนากัน (dialogue) เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดประสบการณ์ซึ่งกันและกัน เพื่อหาสิ่งที่ดีกว่าหรือเข้าใจของเดิมให้ลึกซึ้งกว่าเดิมยิ่ง ๆ ขึ้นไป