pomps and circumstances พิธีรีตอง
ผู้แต่ง : รวิช ตาแก้ว
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
เป็นวิธีสร้างสถานการณ์หรือสิ่งแวดล้อมให้เกิดความรู้สึกเกรงใจ แล้วเสนอข้ออ้างเป็นประเด็นขึ้นมาให้ผู้ฟังต้องสรุปตามความต้องการของผู้อ้างอย่างเสี่ยงได้ยาก เช่น
ในงานเลี้ยงวันเกิดของ ร.ต.ต. มนู คุณแม่ของนายร้อยตำรวจหนุ่งเชิญผู้กำกับมาเป็นประธานพร้อมทั้งมอบของที่ระลึกเล็ก ๆ น้อย ๆ ติดมือกลับบ้าน เช่น ตู้เย็น พัดลม โทรทัศน์สี เป็นต้น ก่อนจากกัน คุณแม่กล่าวกับผู้กำกับกว่า “ผู้กำกับคงได้เห็นประจักษ์แล้วว่า หนูมนูลูกชายของดิฉันแกเอาใจใส่หน้าที่ราชการดีเพียงไร ผู้กำกับคงคิดเหมือนดิฉันว่าปลายปีนี้ แก่น่าจะได้อย่างน้อย 2 ชั้น”
แม่ม่ายผัวเผลอพูดถึงสามีซึ่งไปราชการต่างจังหวัดนาน ๆ กลับบ้านสักครั้งหนึ่ง ว่า “คุณเห็นหรือยังว่าดิฉันชื่อสัตย์ต่อคุณแค่ไหน พอทราบว่าคุณจะกลับบ้าน ก็รีบไปตลาดเตรียมอาหารไว้คอยท่าคุณ พร้อมทั้งทำความสะอาดตกแต่งบ้านเพื่อคุณ หวังว่าคุณคงได้เห็นกับตาแล้วซิว่า เงินเดือนละหมื่นบาทที่คุณให้ไว้นั้นมันไม่พอสักเดือนเดียว”
อย่าเข้าใจผิดว่า การสร้างสถานการณ์หรือประกอบพิธีรีตองเป็นการกระทำไม่ถูกต้องเสมอไป จะทำให้กลายเป็นคนไม่มีมรรยาทและไม่รู้จักกาลเทศะ ความจริงในสังคมมนุษย์ เราต้องรู้จักปฏิบัติจรรยามารยาทและพิธีรีตองให้เหมาะสมกับกาลเทศะเสมอ แม้ในการใช้เหตุผลจะดีเพียงไร แต่ขาดพิธีตองที่ถูกต้อง ผู้อ้างเหตุผลอาจจะผิดหวังก็ได้ เพราะผู้ฟังอาจจะไม่ขัดข้องในเรื่องเหตุผลที่อ้างแต่ไม่อยากทำตามข้อสรุปเพราะเกิดความรังเกียจขึ้นในใจก็ได้ มนุษย์จึงพึงจะจักวางตัวและปฏิบัติตามพิธีรีตองให้เหมาะสมเสมอให้สมกับเป็นผู้รู้ ที่นับว่าเป็นเหตุผลวิบัตินั้นอยู่ที่ว่าความจริงผู้อ้างไม่มีเนื้อหาถูกต้องหรือเพียงพอสำหรับยกมาอ้างได้ จึงอ้างอะไรบ้างพอเป็นพิธี แล้วแสร้งสร้างสถานการณ์ โดยทำพิธีรีตองให้ผู้ฟังเกิดอารมณ์เห็นใจและคล้อยตาม มิใช่เพราะเห็นแก่เหตุผลที่ยกขึ้นอ้างแต่เพราะเกิดมีอารมณ์ที่ไม่อาจจะคัดค้านหรือปฏิเสธข้อสรุปได้