Platonic Renaissance Movement ขบวนการฟื้นฟูลัทธิเพลโทว์
ผู้แต่ง : รวิช ตาแก้ว
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
จุดเริ่มต้นของการฟื้นฟูลัทธิเพลโทว์ (1400-1700) ถือกันว่าเกิดขึ้นในปีค.ศ. 1438 เมื่อยอร์เยียส เยมิสเทิสตุส เพลธัน (Georgius Gemistus Plethon 1355-1452) ติดตามจักรพรรดิโยฮันเนสที่ 7(Johannes VII Paleologus) แห่งคันสแทนเทอโนเพิล (Constantinople)ไปร่วมประชุมสังคายนาที่ฟลอเรนซ์เพื่อการรวมคริสตจักรตะวันออกกับตะวันตก
เพลธันเป็นชาวกรีกทั้งร่างกายและจิตใจ มีความรู้สึกชาตินิยมอย่งรุนแรง ปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะฟื้นฟูชาติกรีกให้รุ่งโรจน์ขึ้นมาใหม่อย่างเช่นในอดีต ขณะเป็นหนุ่มได้ด้นดั้นไปหาความรู้ทางตะวันออกใกล้ ได้มีโอกาสศึกษาศิลปวิทยาการกรีกจากอาจารย์ยิวในสำนักของชาวมุสลิม มีความกระตือรือร้นต่อปรัชญาของเพลโทว์เป็นพิเศษ กลับมาเปิดสำนักสอนปรัชญาลัทธิเพลโทว์ที่เมืองมิสทรา (Mistra) ใกล้สปาร์ทา
จักรพรรดิแห่งคันสแทนเทอโนเพิลเรียกตัวทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา ในขณะเดินทางไปร่วมประชุมสังคายนาที่เมืองฟลอเรนซ์ ขณะที่อยู่ในเมืองฟลอเรนซ์ประเทศอิตาลีนี้เอง เพลธันก็ถือโอกาสเผยแพร่ปรัชญาลัทธิเพลโทว์ และวัฒนธรรมกรีกให้ผู้สนใจ สำหรับเพลธันปรัชญากรีกที่แท้จริง อันแสดงจิตตารมณ์ของกรีกอย่างถูกต้องที่สุดก็คือลัทธิเพลโทว์ ประณามปรัชญาของแอเริสทาเทิลว่า ทำให้เสียจิตตารมณ์กรีกและนำวัฒนธรรมตกต่ำลงสู่วัตถุนิยม
ขณะอยู่ในอิตาลีได้เขียนหนังสือเปรียบเทียบความคิดของเพลโทว์กับแอเริสทาเทิล เพื่อชี้ให้เห็นว่าปรัชญาของเพลโทว์สูงส่งกว่ายิ่งนัก ปรากฏว่ามีผู้สนใจมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้านครรัฐฟลอเรนซ์ ในขณะนั้นนามว่าโคซีโมแห่งเมดิชิ (Cosimo de Medici) ถึงกับตั้งใจจะตั้งสถาบันเพลโทว์ขึ้น และตั้งได้สำเร็จในปี ค.ศ. 1459 บนเนินมอนเตแวคคิโอ (Montevecchio) ณ ตำบลคาเรดยี (Careggi) โดยมอบหมายให้ฟิชีโน (Ficino) เป็นผู้อำนวยการคนแรก และพยายามสร้างบรรยากาศแห่งการค้นคว้า แลกเปลี่ยนความคิด และฝึกการเพ่งพินิจ
ตัวเพลธันเองครั้นกลับสำนักของตนที่มิสทราก็เรียบเรียงหนังสือเพื่อฟื้นฟูการนับถือศาสนาดั้งเดิมของกรีก ถูกอัครบิดรแห่งคันสแทนเทอโนเพิลประณามและเรียกเอางานนิพนธ์ไปเผาไฟ จึงเหลืองานนิพนธ์ของเพลธันมาถึงเราเพียงเล็กน้อยเท่านั้น นักวิจารณ์ถือว่าเพลธันมิได้เข้าถึงความคิดแท้ของเพลโทว์ แต่เข้าถึงลัทธิเพลโทว์ใหม่ของโพลทายเนิสและพราเคลิสเท่านั้น และการที่เพลธันรังเกียจปรัชญาของแอเริสทาเทิลก็เพราะเห็นว่ากลายเป็นปรัชญาของศาสนาคริสต์และอิสลามไป ซึ่งเพลธันเห็นว่าเป็นศาสนาที่บิดเบือนวัฒนธรรมกรีกและทำลายมนุษยนิยมของจิตตารมณ์กรีกไปเสียสิ้น จึงคิดจะรื้อฟื้นของดีในวัฒนธรรมกรีกขึ้นมาใหม่ตามทรรศนะของตนดังได้กล่าวมาแล้ว