Plato on goodness ความดีของเพลโทว์
ผู้แต่ง : รวิช ตาแก้ว
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
เพลโทว์(Plato ก.ค.ศ. 427-347) ต่อเติมความคิดของอาจารย์ซาคเขรอถิสที่ว่า การเพ่งพินิจ (contemplation) จะช่วยให้เข้าใจโลกแห่งมโนคติขึ้นเป็นขั้น ๆ เรื่อยไปจนในที่สุดจะถึงมโนคติของสิ่งดี (Idea of the Good) ซึ่งนับเป็นสุดยอดแห่งความรู้ ใครที่เข้าถึงได้สมบูรณ์แล้วก็จะมีความสุขอย่างสมบูรณ์ ใจจะสงบเต็มเปี่ยม
เพราะฉะนั้นมาตรการความประพฤติดีสำหรับเพลโทว์ก็คือ การกระทำที่นำไปสู่ความเข้าใจมโนคติของสิ่งดี ถือสูตร “Virtue is knowledge.” ตามซาคเขรอถิส ซึ่งมีความหมายเท่ากับ “ความรู้คู่คุณธรรม” หรือ ความรู้กับคุณธรรมไปด้วยกัน ใครมีความรู้มากก็มีคุณธรรมสูงและใครมีคุณธรรมสูงก็เพราะมีความรู้มาก
ความรู้มากในกรณีนี้ของเพลโทว์ คือ ปรีชาญาณ (wisdom) และเมื่อใครมีปรีชาญาณ เพลโทว์ก็เชื่อว่าเขามีความขันติอยู่กรอบของความพอเพียง มีความทมะความเข้มแข็ง และมีทานะเสียสละให้แก่ทุกคนตามที่ศักดิ์ศรีของมนุษย์เรียกร้อง หากมีองค์ประกอบทั้ง 4 ประชุมกันเช่นนี้ เพลโทว์ถือว่ามีความดีอันมีรูปแบบสมบูรณ์ในโลกแห่งมโนคติเสียกว่า The Idea of the Good อันเป็นบ่อเกิดของสิ่งดีทั้งหลายที่จะมีได้ในโลก ซึ่งเผลอทายเนิส (Plotinus) จะคิดต่อเป็นองค์เอกะ (The one) ซึ่งจะล้นความดีออกเป็นสิ่งดี ๆ ทั้งหลายที่มีจริงในโลก