philosophy vs religion ปรัชญาเทียบกับศาสนา ข้อสังเกตเบื้องต้น
ผู้แต่ง : ศุภชัย ศรีศิริรุ่ง
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
- ศาสนาเป็นคำสอนระดับปรมัตถ์ ส่วนปรัชญาเป็นคำสอนระดับสมมุติ ซึ่งจำเป็นสำหรับผู้ที่ยังเข้าไม่ถึงปรมัตถ์ จะได้มีโอกาสเข้าถึงปรมัตถ์ได้ต่อไป
- ศาสดาได้ชื่อว่าศาสดาก็เพราะสอนเรื่องปรมัตถ์ และเฉพาะคำสอนปรมัตถ์เท่านั้นที่ทำให้ได้ชื่อว่าเป็นศาสดา
- คำสอนศาสนาที่เป็นศาสนาจริง ๆ คือคำสอนเรื่องปรมัตถ์ เป็นคนละเรื่องกับปรัชญา จะแทนกันไม่ได้ ศาสนาจะแทนปรัชญาไม่ได้ และปรัชญาจะแทนศาสนาก็ไม่ได้
- คำสอนศาสนาแต่ละรูปแบบอาจจะเป็นคำตอบหนึ่งของปรัชญาได้ แต่ต้องรับรู้ว่าเป็นคำตอบพิเศษเหนือคำตอบปรัชญาระดับสามัญ ที่รับเป็นคำตอบหนึ่งที่เป็นไปได้ของปรัชญาก็เพื่อมิให้การพิจารณาของปรัชญามีช่องโหว่ไม่สมบูรณ์
- ปรัชญาอาจจะช่วยอธิบายปรมัตถ์ และเสริมศรัทธาต่อปรมัตถ์ได้ แต่ไม่พึงอาจเอื้อมปฏิเสธศาสนาหรือเข้านั่งแท่นแทนศาสนา เพราะอยู่กันคนละมิติ ปรัชญาไม่อาจเข้าใจปรมัตถ์ได้ทั้งหมด จึงไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะปฏิเสธหรือเข้าแทนที่
- ไม่พึงให้ปรัชญาใดเพียงปรัชญาเดียว สัมปทานอธิบายปรมัตถ์ใดปรมัตถ์หนึ่ง เพราะแต่ละปรมัตถ์อาจจะมองได้หลายแง่ และใช้ปรัชญาได้หลายรูปแบบสำหรับช่วยอธิบาย และอธิบายอย่างไรก็ไม่หมด
- ปรมัตถ์มีหน้าที่ให้ความเห็นแจ้งและพัฒนาคุณภาพชีวิตทุกระดับจนถึงระดับปรมัตถ์ ส่วนปรัชญามีหน้าที่ให้ความเข้าใจโลกมนุษย์และสังคม ทั้งนี้สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตในระดับเหตุผลเท่านั้น ไม่สามารถพัฒนาถึงขั้นปรมัตถ์
- ผู้เข้าถึงปรมัตถ์แล้ว ไม่ต้องการการตีความ เพราะเห็นแจ้งแล้ว แต่ผู้เข้ายังไม่ถึงหรือถึงยังไม่สมบูรณ์ หากปรารถนาจะเข้าใจได้บ้างก็พึงอาศัยปรัชญาช่วยตีความ หากใช้ปรัชญาเดียวก็จะเข้าใจได้ในวงจำกัดของปรัชญานั้น หากใช้หลายปรัชญาความเข้าใจก็จะได้แง่มุมต่าง ๆ กันมากขึ้น
- คำสอนศาสนาต้องอาศัยปรัชญาเป็นฐานช่วยสร้างความหมายส่วนปรัชญาก็ต้องอาศัยศาสนาเป็นมงกุฎเพื่อเสริมคุณค่าเชิงบวก