philosophy purpose of จุดประสงค์ของปรัชญา
ผู้แต่ง : รวิช ตาแก้ว
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
เพื่อรู้จักเก็บส่วนดีจากทุกคำตอบมาเป็นหลักยึดเหนี่ยวของตน” หมายความว่า เมื่อผู้เรียนฝึกมองเห็นปัญหาและฝึกพิจารณาเหตุผลของทุกคำตอบด้วยใจเป็นธรรมแล้า ไม่พึงหยุดอยู่แค่นั้น จะทำให้วิชาปรัชญาขาดการสัมผัสกับชีวิตจริงกลายเป็นวิชาลอยเมฆ ไร้ประโยชน์ รู้ไว้เพียงเพื่อประดับปัญญา ถ้าจะให้การเรียนปรัชญาสัมพันธ์กับชีวิตของตนเอง ผู้เรียนจะต้องปฏิบัติถึงขั้นสามคือ เก็บเฉพาะส่วนดี ไม่ว่าจะมาจากคำตอบใด รวบรวมเอาไว้เป็นคำตอบของตนเอง ซึ่งไม่จำเป็นต้องเหมือนกับของใครเลย ส่วนดีที่แต่ละคนจะเก็บมาเป็นหลักยึดเหนี่ยวของตนนั้นจะต้องเหมาะสมกับสภาพชีวิตจริงของแต่ละคน เช่นภูมิหลัง พื้นความรู้ รสนิยม อุดมคติ ความถนัด ความสนใจ ฯลฯ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนได้
เรื่องนี้จะกระจ่างมากขึ้นเมื่อได้รู้เรื่องเทวรูปสี่ (For Idols) สำหรับขณะนี้ขอสรุปเพียงแต่ว่า การเรียนปรัชญาอย่างถูกวิธีจะช่วยให้เป็นตัวของตัวเองได้อย่างถูกต้องเหมาะสม สามารถอ่านความคิดของผู้อื่นได้มากขึ้น (5 paradigms) และสามารถร่วมมือกับผู้อื่นได้ดีขึ้นโดยไม่จำเป็นจะต้องคิดเหมือนกัน แต่จะร่วมมือกันบนพื้นฐานแห่งความเข้าใจกันและกัน(mutual understanding) เรียกว่าอยู่ร่วมกันโดยการเสวนา(dialogue) ซึ่งไม่ใช่การแบ่งรับแบ่งสู้หรือการผ่อนสั้นผ่อนยาว
“แบ่งรับแบ่งสู้” หมายความว่าแต่ละฝ่ายยอมอะไรบ้าง เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนให้อีกฝ่ายหนึ่งยอมอะไรบ้างเท่านั้น(compromise) เสวนาไม่ใช่บวกกันหารสองหรือแบ่งกันกินคนละครึ่ง(arithmetical means) วิธีการเหล่านี้เหมาะสำหรับแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น เช่น ขณะมีภัยอันตรายใหญ่หลวงร่วมกัน ต่างฝ่ายต่างยอมกันบ้าง เพราะกลัวภัยจึงต้องช่วยกันแก้ปัญหา ครั้นความกลัวภัยลดลงถึงขีดหนึ่ง ความขัดแย้งจะกลับคืนมาอย่างเดิมหรือรุนแรงกว่าเดิม เพราะระแวงกันมากกว่าเดิม หรือกลัวจะถูกทวงบุญคุณ
การแก้ปัญหาระยะยาวต้องใช้การเสวนากัน นั่นคือศึกษาหาจุดสนใจร่วมกัน เพื่อใช้เป็นพื้นฐานแห่งความเข้าใจดีต่อกัน ความเข้าใจดีต่อกันไม่มีอะไรจะส่งเสริมได้ลึกซึ้งเท่าการศึกษาให้เข้าใจปรัชญาอันแฝงอยู่เบื้องหลังความคิดของกันและกันด้วยความสนใจที่จะเข้าใจกันและกัน