philosophy, middle way of มัชฌิมแห่งปรัชญา
ผู้แต่ง : รวิช ตาแก้ว
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
การศึกษาปรัชญาในปัจจุบันมีทางเลือกอยู่ 3 แนวทางดังต่อไปนี้
- วจนศูนย์นิยม(logocentrism) ให้แข็งแกร่งน่าเชื่อ และวางกติกาให้เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติอย่างเต็มที่ กลุ่มนี้ได้แก่บรรดาผู้พยายามรื้อฟื้นลัทธิเดิมขึ้นมาปรับปรุงเพื่อเป็นหลักยึดเหนี่ยวอย่างเหนียวแน่นยิ่ง ๆ ขึ้น มักจะเติมคำว่า “neo-” (ใหม่) หรือ “ new” (ใหม่) เข้าข้างหน้าลัทธิเดิม หรือยกย่องศาสดาใหม่ ๆ อันยังผลให้เกิดขบวนการศาสนาใหม่ (new religious movements) ประเภทยึดมั่นถือมั่นอีกมากมาย ที่สละความยึดมั่นถือมั่นก็มี ก็จะสังกัดแนวทางที่ 3
- สุญนิยมอย่างจัด(nihilism) ปฏิเสธความมีอยู่ของวจนศูนย์นิยมทุกรูปแบบ นั่นคือสอนว่าเครือข่ายทั้งหลายที่ลัทธิวจนศูนย์นิยมเชื่อถืออยู่ทั้งหมดมิได้มีจริงแต่ประการใดเลย ไม่มีเครือข่ายของเอกภพ เครือข่ายของความเข้าใจเป็นเรื่องเพ้อฝันไม่มีจริง ความพยายามสร้างเครือข่ายด้วยภาษาเป็นความพยายามที่ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ความรู้ของมนุษย์เป็นความรู้เป็นเรื่อง ๆ เหมือนประสบการณ์แต่ละครั้ง ๆ ไม่มีความสัมพันธ์อะไรจริง ๆ นอกเหนือไปจากที่มนุษย์พยายามทำขึ้นเพื่อความสนุกสนานทางปัญญา เผลอ ๆ ก็เชื่อเป็นตุเป็นตะว่ามีจริง ที่สังกัดกลุ่มนี้ คือลัทธิรื้อถอน (deconstructionism) สัมพัทธนิยม (relativism) วิมัตินิยม (scepticism) เป็นต้น กลุ่มนี้ไม่ยึดมั่นถือมั่นและไม่มีหลักยึดเหนี่ยวแต่จะปลงอนิจจังไปเรื่อย ๆ
- กระแสสายกลางปัจจุบัน อาจจะเรียกได้ว่าลัทธิรื้อสร้างใหม่ (reconstructionism) ซึ่งเป็นวิวัฒนาการขั้นล่าสุดของลัทธิหลังนวยุคนิยม (postmodernism) คือดำเนินการต่อจากขั้นแรกของลัทธิหลังนวยุคนิยม ซึ่งมุ่งรื้อถอนจนมีผู้เห็นประโยชน์จากการรื้อถอน เพราะผู้รื้อถอนเหล่านั้นรื้อถอนด้วยคำวิจารณ์ จึงนับได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งวิจารณญาณได้เป็นอย่างดี คือ วิเคราะห์และวิจักษ์แต่พวกแรกวิจักษ์เชิงลบเท่านั้น เพื่อให้สมบูรณ์จึงควรเพิ่มวิจักษ์เชิงบวกเข้าไปด้วย แล้วก็เพิ่มขั้นสุดท้ายของวิจารณญาณ คือ วิธาน เข้าไปอีกขั้นหนึ่ง วิจารณญาณก็จะสมบูรณ์ถึงขั้นรื้อสร้างใหม่ (reconstruction) ตามอุดมคติของวิจารณญาณ
เพื่อให้เหมาะสมกับสังคมโลกาภิวัตน์ กระแสสายกลางปัจจุบันจึงตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะ “ไม่ละเลยสิ่งใดเลย แต่จะพยายามย้อนอ่านทุกอย่างที่น่าสนใจด้วยวิจารณญาณ” (rejecting nothing but rereading all) ลัทธินี้จึงเข้าได้กับพหุนิยม (pluralism) เสวนานิยม (dialoguism) โลกาภิวัตน์นิยม (globalizationalism) ปรัชญาวิเคราะห์ (philosophical analysis) ปรัชญาอรรถปริวรรต (hermeneutical philosophy) ปรัชญากระบวนการ (process philosophy) ชนิดไม่ยึดวจนศูนย์นิยม เป็นต้น
ที่ว่าเป็นกระแสสายกลางก็เพราะไม่ละทิ้งลักษณะวจนศูนย์เสียทั้งหมด แต่ก็ไม่ยึดมั่นถือมั่นอย่างเหนียวแน่น เพียงยึดเหนี่ยวแต่ไม่ยึดติด คือพร้อมที่จะปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ (ปรัชญากระบวนการ) โดยรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย (พหุนิยม) เชื้อเชิญทุกฝ่ายให้มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน (เสวนานิยม) ทั้งนี้มิใช่เพื่อถกเถียง (discussion) หรือโต้วาที (debate) ให้เห็นดำเห็นแดง รู้แพ้รู้ชนะ แต่เสนอข้อถก (agreement) แก่กันและกันเพื่อให้รับพิจารณาและยอมรับด้วยวิจารณญาณ โดยหวังว่าจะอาศัยกันและกันเพิ่มพูนความรู้ให้ร่ำรวยกันทุกฝ่าย (mutual enrichment) ด้วยท่าทีแบ่งปัน (sharing attitude) โดยมีอรรถปริวรรต (hermeneutics) เป็นวิธีร่วมของทุกฝ่าย ทั้งนี้ย่อมคาดหมายได้ว่าผู้มีสติสัมปชัญญะและมีน้ำใจดีทุกคนจะพอใจและให้ความร่วมมือแบบแบ่งกลุ่มกันรับผิดชอบ ไม่ใช่แบ่งพวกเพื่อแข่งขันเอาชนะกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เชื่อได้ว่าไม่ว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะก้าวหน้าไปถึงไหน ๆ มนุษยชาติและโลกทั้งใบจะปลอดภัยและมีสันติสุขกันทุกย่อมหญ้า