philosophy, definition of นิยามปรัชญา
ผู้แต่ง : เมธา หริมเทพาธิป
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
ปรัชญาหมายความว่าความอยากเรียน อยากฉลาด นั่นเป็นการหาความหมายตามรากศัพท์ แต่ยังมิได้พูดถึงว่า ปรัชญาเป็นอะไรกันแน่ ที่ถามว่าวิชาใดเป็นอะไรนั้นหมายความว่าต้องการนิยามนั่นเอง เรารู้เทคนิคของการนิยามจากตรรกวิทยาว่าต้องบอกประเภทกว้าง ๆ(genus) แล้วกำหนดให้พอดีด้วยประเภทเจาะจง(species) ประเภทกว้างของปรัชญาก็คือ “วิชา” ปรัชญาเป็นวิชาอย่างหนึ่ง เราจะกำหนดประเภทเจาะจงของวิชาใด ก็โดยบอกเนื้อหาของวิชานั้น ๆ เช่น ตัวเลขเป็นเนื้อหาของวิชาเลขคณิต ปรากฏการณ์ธรรมชาติ เป็นเนื้อหาของวิชาวิทยาศาสตร์ กลุ่มชนเป็นเนื้อหาของวิชาสังคมศาสตร์ เป็นต้น ถ้าเช่นนั้นอะไรเล่าเป็นเนื้อหาของวิชาปรัชญา ได้มีผู้พยายามกำหนดเนื้อหาของวิชาปรัชญาเพื่อสร้างนิยามขึ้นมากมายแล้ว แต่ก็ยังไม่มีนิยามใดเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปเลยสักนิยามเดียว ทุกนิยามจะต้องมีฝ่ายอื่นคัดค้าน ทั้งนี้ก็เพราะว่านิยามของปรัชญาเท่าที่สร้างกันขึ้นมานั้น สร้างขึ้นมาด้วยใจลำเอียง คือพยายามจะล้อมกรอบวิชาปรัชญาให้ตอบสนองลัทธิของตน ฝ่ายอื่นจึงไม่ยอมเห็นด้วย
ถ้าจะให้ปรัชญารวมเนื้อหาได้ทุกลัทธิโดยไม่ลำเอียง ก็เห็นจะต้องตอบว่า “ปรัชญาคืออะไรนั้นตอบไม่ได้” เพราะเนื้อหาของวิชาปรัชญาเปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัย ตามท้องที่ แล้วแต่ว่าจะสนใจศึกษาค้นคว้าประเด็นปัญหาใด
ตอบเช่นนี้ ผู้ที่ยังคิดว่าลัทธิของตนลัทธิเดียวมีสิทธิจะเป็นปรัชญาได้ ก็คงจะไม่ยอมอยู่นั่นเอง แต่ผู้ที่มีใจอุเบกขารู้จักวางใจเป็นกลาง ก็จะเห็นว่าคำตอบเช่นนี้สามารถรวมเนื้อหาได้ทุกลัทธิ และแต่ละลัทธิมีสิทธิเสมอภาคกันในสนามปรัชญา ผู้วิจัยเชื่อว่าถ้าเราพยายามจะเรียนปรัชญากันด้วยทรรศนะคติเช่นนี้ ลัทธิต่าง ๆ ก็คงจะร่วมมือกันได้ และจะเป็นประโยชน์แก่วงการปรัชญาเป็นส่วนรวมอย่างมาก