philosophy of living in community ปรัชญาการใช้ชีวิตหมู่คณะ
ผู้แต่ง : รวิช ตาแก้ว
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
มนุษย์ฉลาด (Homo Sapein) เริ่มรู้จักชีวิตหมู่คณะเมื่อ 1 แสนปีมาแล้ว และได้สร้างวัฒนธรรมเบื้องต้นซึ่งเรามีหลักฐานรู้ได้น้อย แต่ชีวิตหมู่คณะนั้นเองช่วยให้วิจารณญาณพัฒนาได้เร็วขึ้น ดังนั้น ต่อมาอีก 5 หมื่นปี คือเมื่อประมาณ 5 หมื่นปีมานี้ มนุษย์ฉลาดก็พัฒนาถึงขั้นเป็นมนุษย์นิแอนเดอร์เธิล (Neanderthal) ซึ่งสร้างวัฒนธรรมที่มีหลักฐานไว้ให้เราศึกษาได้อย่างน่าทึ่งมากมายทีเดียว ทั้งนี้ต้องถือว่าเป็นอานิสงค์จากความกล้าเดิน 2 ขาของพวกโพรคันเซิลเป็นปฐม วิจารณญาณของมนุษย์ชำนาญที่รู้จักกะเทาะหิน วิจารณญาณของพวกมนุษย์ยืนตรงที่รู้จักใช้ไฟ วิจารณญาณของพวกมนุษย์ฉลาดที่รู้จักใช้ภาษาและรู้จักชีวิตหมู่คณะระดับพื้นฐานต่อมาตามลำดับ
ชีวิตหมู่คณะทำให้มีวิจารณญาณในการแสวงหาวิธีร่วมมือกันวางโครงการ และแบ่งหน้าที่กันทำงานส่วนรวม การล่าสัตว์จึงมีประสิทธิภาพมากขึ้น แทนที่จะล่าสัตว์เล็กซึ่งต้องเสียเวลามากสำหรับอาหารแต่ละมื้อของแต่ละคน ก็หันมาล่าสัตว์ใหญ่เป็นงานหลัก ส่วนการล่าสัตว์เล็กรวมทั้งการหาผลหมากรากไม้เป็นงานเสริม พวกเขาแสวงหาวิธีล่าสัตว์ใหญ่ให้เสี่ยงน้อยลงด้วยการขุดหลุมดักสัตว์จำพวก แรด กวาง แมมมัธ เป็นต้น
ตัวหนึ่งก็ได้เนื้อกินอิ่มหนำสำราญกันทั้งหมู่คณะไปได้หลายวัน เพราะรู้จักใช้ไฟย่างกินแล้ว การจับสัตว์เล็กก็คงแสวงหาวิธีสร้างกับดักเพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเวลาซุ่มจับ ส่วนการหาธัญญาหารและผลไม้ก็คงแบ่งเขตและสับเปลี่ยนเวรกันออกหาตามความเหมาะสม เพื่อประหยัดทั้งเวลาและความเหนื่อยยาก
เมื่อใช้เวลากินน้อยลง ใช้เวลาหาอาหารน้อยลง เวลาก็เหลือมากขึ้นสำหรับการพัฒนาทั้งวิจารณญาณและกิเลส ผู้ใดใคร่พัฒนาวิจารณญาณก็พัฒนาไป ผู้ใดใคร่พัฒนากิเลสก็พัฒนาไป หรือใครจะใคร่พัฒนาทั้งสองด้านควบคู่กันไปก็ย่อมได้ แต่กิเลสแสดงออกเป็นภัยต่อหมู่คณะเมื่อใด หมู่คณะก็จะร่วมมือกันกำจัด และวางระเบียบป้องกันสำหรับอนาคต ประเพณีจึงค่อย ๆ เกิดขึ้นในหมู่คณะและสะสมไว้เรื่อยมา