Nietzsche’s morality นีทเฉอกับศีลธรรม
ผู้แต่ง : รวิช ตาแก้ว
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
นีทเฉอให้ข้อสังเกตว่าศีลธรรมหรือจริยธรรมเท่าที่มนุษย์เราปฏิบัติกันอยู่ตลอดมาทุกยุคทุกสมัยพอจะจำแนกได้ 2 แบบ คือ
ศีลธรรมแบบนาย (master morality) กับศีลธรรมแบบทาส (slave morality)
ผู้ที่เข้มแข็ง มั่นใจในตัวเองเป็นตัวของตัวเอง ทั้งในความคิดและการปฏิบัติ จะเลือกยึดถืออุดมการณ์และปฏิบัติจากการตรึกตรอบจนเกิดความเชื่อมั่นของตนเองเท่านั้น คนประเภทนี้จะไม่ยอมเชื่อใครง่ายๆ อย่างไร้เหตุผล และเมื่อมั่นใจในการตัดสินใจแล้วจะมุมานะลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายที่ตั้งใจไว้ พวกนี้แหละเป็นอัจฉริยบุคคล เป็นผู้ทำให้โลกก้าวหน้า เป็นผูทำให้มนุษยชาติก้าวขึ้นสู่การเป็นอภิมนุษ์ ศีลธรรมของคนประเภทนี้เรียกว่าศีลธรรมแบบนาย ไม่มีหลักการตายตัว ความมุ่งมั่นของแต่ละคน คือกฎศีลธรรมของเขา
ส่วนผู้ที่ไม่เข้มแข็งหรือเข้มแข็งไม่พอ ไม่กล้าเป็นตัวของตัวเอง เนื่องจากขาดความมั่นใจในการตัดสินใจเลือกทางของตนเอง จึงมอบหมายตัวเองให้กับหลักการที่ตนเองคาดว่าจะช่วยคุ้มครองหรือให้ความปลอดภัยแก่ตนได้ พวกนี้จะชอบอ้างหลักธรรมที่มีผู้กำหนดไว้แล้วล่วงหน้า หรืออุดมการณืที่เป็นที่ยอมรับกันในสังคม ทั้งนี้เพื่อความสบายใจของตนเองและเพื่อจูงใจมิให้คนอื่นมาเบียดเบียนตน ศีลธรรมแบบรับถ่ายทอดเช่นนี้เรียกว่าศีลธรรมแบบทาส ผู้ถือศีลธรรมแบบนี้ไม่คิดจะเป็นตัวของตัวเอง ไม่คิดจะหาหลักการของตนเอง หรือถ้าจะหาเหตุผลก็ต้องตั้งใจหาเหตุผลในทางสนับสนุนเท่านั้นในขณะเดียวกันก็กลัวว่าจะพบข้อบกพร่องแล้วจะทำให้ไม่สบายใจ
นีทเฉอเชื่อว่า ชาวกรีกโบราณได้บรรลุถึงศีลธรรมแบบนายแล้ว แต่คริสตศาสนาทำให้ชาวยุโรปยุคกลางตกกลับสู่ศีลธรรมแบบทาสอีก และยังติดพันมาจนถึงสมัยของท่าน ท่านจึงเรียกร้องและชักชวนให้ทำการผ่าตัดขนานใหญ่ เพื่อเปิดทางนำไปสู่การเป็นอภิมนุษย์ นีทเชอชื่นชมในบุคลิกภาพของบิสมาร์ค และคงใช้เป็นแม่แบบความคิดศีลธรรมแบบนายของตน
การแยกศีลธรรมของนีทเฉอดังกล่าวมาข้างต้นนี้ จะเป็นแนวทางให้นักอัตถิภาวนิยมแบ่งอัตถิภาวะออกเป็น 2 ประเภทต่อมา คือ อัตถิภาวะแท้กับอัตถิภาวะเทียว (authentic and inauthentic existence)