Nietzsche on religion นีทเฉอกับศาสนา
ผู้แต่ง : รวิช ตาแก้ว
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
นีทเฉอโจมตีทุกศาสนาว่าขัดต่อเหตุผล
พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของความสิ้นหวัง ศาสนาฮินดูก็ผิดมนุษย์ คริสตศาสนายิ่งร้ายที่สุด พระเยซูเป็นคนดีแต่มีโรคประสาทความกระตือรือร้นจากโรคประสาทกำเริบทำให้พูดอะไรผิดมนุษย์ธรรมดา สานุศิษย์โง่เขลาและกระตือรือร้นหัวรุนแรง
สานุศิษย์เอาไปปั้นเรื่องขึ้นใหม่ บังเอิญถูกใจคนสมัยนั้น เรื่องจึงเรื้อรังเรื่อยมา ศาสนาที่นับว่าเลวร้ายน้อยที่สุดก็คือ ศาสนายิวตามพันธสัญญาเดิม (The Old Testament) ซึ่งนีทเฉอยกย่องว่าดีที่สุดในบรรดาวรรณคดีโบราณ แต่ก็ยังบกพร่องอยู่มาก
เมื่อพระเจ้าตายไปแล้ว ศาสนาทุกศาสนาก็น่าจะตายไปพร้อมกัน ความเชื่อที่เข้ามาแทนก็คือศูนย์นิยม (nihilism) ซึ่งเป็นความเชื่อที่ว่าเอกภพเป็นอยู่ของมันเอง ไม่มีความหมายและเป้าหมายใดนอกจากที่อภิมนุษย์ผู้ถือศีลธรรมแบบนายจะเลือกเพื่อความมีอำนาจ นีทเฉอเรียกตัวเองว่านักศูนย์นิยมคนแรก ต่อไปจะเป็นความเชื่อของคนทั้งโลก
นักอัตถิภาวนิยมส่วนมากเห็นว่า นีทเฉอกล่าวโจมตีศาสนาด้วยอารมณ์มากเกินไป ความจริงนั้น นีทเฉอไม่พอใจกับคำสอนของศาสนาต่างๆที่เปิดโอกาสให้คนเรายึดถือตามแนวของศีลธรรมแบบทาสได้ง่าย และแต่เดิมมาผู้รับผิดชอบในศาสนาต่างๆ ก็ไม่สู้จะได้คำนึงถึงเรื่องนี้ ครั้นถูกนีทเฉอโจมตีในแง่นี้เข้า จึงสำนึกได้ว่า ความจริงศาสดาต่างๆ ล้วนแต่เดินตามศีลธรรมแบบนายทั้งสิ้น ซึ่งเรื่องนี้นีทเฉอเอกก็มิได้คำนึงถึง อย่างไรก็ตาม
จากการวิจารณ์ของนีทเฉอเอง มีผลให้ผู้รับผิดชอบในศาสนาต่างๆ แก้ไขปรับปรุงวิธีเสนอคำสอนและกำหนดเป้าหมายของศาสนาให้เป็นไปในแนวทางของอัตถิภาวนิยมยิ่งขึ้น ข้อตำหนิรุนแรงของนีทเฉอจึงมักจะใช้ไม่ได้กับสภาพของศาสนาในปัจจุบันโดยทั่วไป อย่างไรก็ตาม ศาสนาต่างๆ ในขณะนี้ยังมีภาระในการลงมือทำการปรับปรุงกลไกต่างๆ ในแต่ละศาสนาให้บรรลุเป้าหมายที่สำนึกกันอยู่ในระดับปัญญาชน ผู้เขียนเชื่อว่าการศึกษาปรัชญาอัตถิภาวนิยมกันอย่างจริงจังจะช่วยเรื่องนี้ได้มาก
สรุป ความคิดปรัชญาเท่าที่กล่าวมานี้ นีทเฉอเองไม่ได้ตั้งใจจะให้เป็นปรัชญา แต่แถลงเพียงเป็นสมมติฐานน่าจะเป็นได้ที่สุดเท่านั้น นีทเฉอเองเคยเขียนไว้ว่า เราต้องอาศัยวิทยาศาสตร์สำหรับจะเข้าถึงความเป็นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาจิตวิทยาและสรีรวิทยา ซึ่งปัจจุบันไม่ถึงขั้นแต่ในอนาคตอาจจะถึงได้
ความคิดของนีทเฉอกระจัดกระจายอยู่ในบันทึกร่างเสียมาก ท่านเองเคยคิดจะรวบรวมเป็นเล่มหนังสือแต่ก็ไม่ตกลงใจ อาจเป็นว่าท่านยังไม่เกิดความแน่ใจในความคิดเหล่านั้นก็ได้ จึงยากที่จะประเมินระบบบอภิปรัชญาของนีทเฉอขึ้นได้จริงๆ และยากที่จะจัดว่านีทเฉอเป็นนักปรัชญากลุ่มใดหรือสำนักใด เพราะปรากฏว่าใครๆ ก็อ้างนีทเฉอได้ และใครๆก็โจมตีนีทเฉอได้
อาจจะเป็นเพราะไม่เป็นระบบนี่เอง ความคิดของนีทเฉอจึงมีอิทธิพลต่อความคิดของนักเขียนในสมัยปัจจุบันมาก ทั้งในด้านปรัชญาและโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านวรรณคดี เช่น Rainer Maria Rilke; Stefan George; Christian Morgenstern; Gottfried Benn; Thomas Mann: Herman Hesse: Adré Gide; André Malraux; Bernard Shaw; Yeats: Albert Camus; Jean-Paul Sartre; Oswald Spengler; Paul Tillich รวมทั้งพวกนิยมจิตวิเคราะห์และนักอัตถิภาวนิยมโดยทั่วไป