Newton and truth นิวเทินกับความจริง
ผู้แต่ง : ศุภชัย ศรีศิริรุ่ง
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
เซอร์ ไอแซค นิวเทิน (Sir Issac Newton 1642-1729) เป็นตัวอย่างที่ดีของนักวิทยาศาสตร์ที่ยอมรับและประเมินค่าความจริงตามคุณภาพของข้อมูล โดยไม่มีอคติ ดังปรากฏในมาตรการควบคุมมาตรฐานของวิธีการทางวิทยาศาสตร์ของนิวเทิน (Newton’s Laws) ข้อที่ ๔ ว่า เรื่องใดที่ยังไม่ได้ทดสอบจนแน่ใจก็ให้ถือเป็นเพียงสมมติฐานไปพลาง ๆ ก่อน อย่าเพิ่งถือว่าเป็นความจริง แต่ปรากฏว่ากลับเอามาสอนกันเป็นความจริงเด็ดขาดเสียเป็นอันมาก ทำให้เกิดการยึดมั่นถือมั่นและผลร้ายตามมา
ความรู้ทางวิทยาศาสตร์นั้นมีหลายลำดับตามขั้นตอนของการแสวงหาความรู้ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งล้วนมิใช่ความจริงเด็ดขาดทั้งสิ้น จึงควรรู้เท่าทันและประเมินค่าให้ถูกต้อง และใช้ประโยชน์ตามที่เป็น ไม่สามารถเหมารวมได้ว่าจะเป็นความจริงเด็ดขาดทั้งหมด ดังนี้
1. สมมุติฐาน (Hypothesis) เป็นข้อความซึ่งนักวิทยาศาสตร์สร้างขึ้น เพื่อคาดคะเนคำตอบของปัญหาล่วงหน้า ก่อนที่จะทำการทดลอง เพื่อตรวจสอบความถูกต้องเป็นจริงของเรื่องนั้น ๆ ต่อไป สมมุติฐานจึงไม่สามารถนำไปใช้อ้างอิงหรือพยากรณ์ได้ เพราะยังไม่ได้ผ่านการทดสอบยืนยันว่าเป็นความจริง ดังนั้นสถานภาพของมันจึงเป็นเพียงหลักการวิทยาศาสตร์ชั่วคราวที่ยกร่างขึ้นเพื่อรอการทดสอบต่อไป
2. ข้อเท็จจริง (Fact) เหตุการณ์หรือปรากฏการณ์ใดเกิดขึ้นมา แล้วประจักษ์ชัด ก็เป็นข้อเท็จจริง (fact) ของเหตุการณ์นั้น ๆ ซึ่งยังต้องขึ้นอยู่กับผู้สังเกตการณ์ ประสิทธิภาพ และความละเอียดของเครื่องมือที่ใช้ตรวจวัดด้วย
3. กระบวนทรรศน์ (Concept) คือ ความคิดหลัก (Main idea) ของยุคที่มีต่อวัตถุ เหตุการณ์ หรือปรากฏการณ์ธรรมชาติ แต่ละบุคคลย่อมมีแนวคิดเกี่ยวกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือปรากฏการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งแตกต่างกันได้ ขึ้นกับความรู้เดิมและประสบการณ์ที่มีอยู่ และวุฒิภาวะของบุคคลนั้น ๆ
4. ระบบเครือข่ายส่วนตัว (Principle) เป็นความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่เกิดจากกลุ่มของแนวคิดที่สังเกตและทดลองซ้ำได้ผลเหมือนเดิม ทุกคนเข้าใจตรงกัน นำมาสรุปรวมกันไว้เป็นหลัก
5. ทฤษฎี (Theory) เป็นข้อคาดคะเนในทางวิทยาศาสตร์ที่เกิดขึ้นเพื่อใช้อธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่ประสาทสัมผัสรับรู้ได้
6. กฎ (Law) เป็นความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าถูกต้องโดยผ่านการทดสอบ ทดลองแล้วได้ผลตรงกันทุกครั้งจนแน่ใจ ข้อความที่เป็นกฎจะเน้นเฉพาะสิ่งที่สามารถ ตรวจวัด และทดลองซ้ำ ๆ จนแน่ใจว่าจะไม่เปลี่ยนแปลง เช่น กฎความถาวรของสสารและพลังงาน (Law of conservation of matter and energy, Logical law, Mathematical law)
คุณค่าของความรู้ทางวิทยาศาสตร์จึงขึ้นกับว่าเป็นความรู้ประเภทไหน ก็สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ตามนั้น ไม่สามารถรับรองได้เลยว่าความรู้เหล่านี้จะต้องตรงกับความเป็นจริงที่แน่นอน แม้กระทั่ง กฎ ที่ผ่านการทดลอง ทดสอบมานับครั้งไม่ถ้วนแล้วได้ผลเหมือนเดิมทุกประการก็ยังไม่สามารถแน่ใจได้เลยว่าจะจริงอย่างเด็ดขาดตามที่นิวเทินกล่าวไว้ เพราะเราไม่สามารถมั่นใจได้เลยว่าในการทดลองครั้งต่อไปจะเป็นจริงเหมือนที่ผ่านมาหรือไม่ ซึ่งเป็นข้อจำกัดของวิธีอุปนัย ความรู้ทางวิทยาศาสตร์จึงมีคุณค่าได้แค่ความน่าจะเป็นเท่านั้น