myth, meaning of ความหมายของ ปรัมปรา
ผู้แต่ง : ศุภชัย ศรีศิริรุ่ง
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
“นวยุคนิยมพยายามปฏิเสธคุณค่าของเรื่องปรัมปรา (myth) ทั้งหลายและตีแผ่เรื่องปรัมปราออกมาเป็นข้อเท็จจริงและใช้กฎเหตุผลเข้าตีความ”
การตีความแบบนวยุคนิยมดังกล่าวนำไปสู่การไม่ยอมรับความหมายและคุณค่าที่แฝงมากับเรื่องปรัมปรา ซึ่งเหตุผลและภาษาอุดมการณ์ไม่อาจเข้าถึงได้ โดยอ้างว่าไม่น่าเชื่อถือ ไร้สาระและสร้างความงมงายเพราะเนื้อหาส่วนใหญ่ไร้เหตุผลและไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ทำให้พลาดจากคุณค่าและความหมายต่าง ๆ ที่อาจมีประโยชน์ในมิติอื่น ๆ ไปอย่างน่าเสียดาย
เรื่องปรัมปรา (Myth) คือเรื่องเล่าเกี่ยวกับเทพและมนุษย์ที่มีบทบาทตามพลังของธรรมชาติ หรือเกี่ยวกับต้นกำเนิดของความเชื่อถือและประเพณีทางศาสนาหรือทางสังคม กระบวนการสร้างเรื่องปรัมปรา (Mythologization) นั้นเกิดจากมีนักปราชญ์ที่เข้าใจกฎเกณฑ์และความเป็นไปของธรรมชาติได้มากกว่าระดับไสยศาสตร์ (Magic) แต่ภาษายังพัฒนาไม่ทันความต้องการทางวิชาการจึงพยายามหาทางออกโดยสอนด้วยสัญลักษณ์ ให้เข้าใจว่าในธรรมชาติมีพลังหลายอย่าง ต่างก็มีกฎเกณฑ์ของตน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ จับใจ จำได้ และน่าเชื่อ โดยเล่าต่อ ๆ กันมา และถูกบันทึกไว้โดยผู้ศรัทธา พบว่าในทุกศาสนานั้นจะมีเรื่องลึกลับ ปาฏิหาริย์ ที่ไม่สามารถมีประสบการณ์ตรงอยู่เสมอ จึงต้องนำเสนอเป็นเรื่องปรัมปรา (Myth) ไว้เพื่อให้ศาสนิกมีความเชื่อมั่นและศรัทธาในศาสนาของตน มีคุณค่าของความหมายมากมายที่แฝงมากับเรื่องปรัมปรา(Myth) ที่ไม่ควรปฏิเสธและมองข้าม ไม่ว่าจะเป็น คุณค่าทางศาสนาและวัฒนธรรม คุณค่าทางประวัติศาสตร์ คุณค่าทางวรรณคดี คุณค่าทางจริยธรรม คุณค่าทางอภิปรัชญา ฯลฯ ที่ส่งผ่านมาทางเรื่องปรัมปรา และรอการตีความหมาย มนุษย์สามารถตีความหมายเรื่องปรัมปรา (Myth) ได้แตกต่างกัน 5 นัย ดังนี้
1. ตีความตามตัวอักษรหรือโดยพยัญชนะ (Literal Interpretation) คือ เข้าใจตามที่ภาษาสื่อตรง ๆ
2. ตีความโดยสัญลักษณ์ (Symbolical Interpretation) คือ เข้าใจว่าเรื่องราวต่าง ๆ ที่เรื่องเล่าปรัมปรากล่าวถึงนั้นเป็นเพียงสัญลักษณ์ของความเป็นจริงที่ต้องการสอนเท่านั้น
3. ตีความโดยอรรถ (Idiomatic Interpretation) คือ ตีความตามสำนวนภาษาที่ใช้ ที่จะต้องพิจารณาเป็นสำนวนๆ ไป เพราะเรื่องเล่ามักใช้สำนวนโวหารเป็นช่วง ๆ เพื่อไม่ให้น่าเบื่อ บางครั้งตั้งใจเปรียบเทียบ บางครั้งตั้งใจเกินจริง บางครั้งตั้งใจบอกตรง ๆ ตามตัวอักษร เป็นต้น
4. ตีความตามที่พิสูจน์ได้ด้วยเหตุผล (Rational Interpretation) ถือว่าเหตุผลและข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์เป็นเกณฑ์กำหนดว่าอะไรควรเชื่อ และไม่ควรเชื่อ ทำให้ความหมายถูกตีกรอบอยู่ในระบบเฉพาะที่กำหนดขึ้นเท่านั้น
5. ตีความด้วยวิจารณญาณ (Critical Interpretation) คือการฝึกสมองให้มีวิจารณญาณทั้งเชิงวิเคราะห์ ประเมินค่า เปรียบเทียบ แสวงหาสิ่งที่ดีกว่า ประมวลขึ้นเป็นข้อเสนอแนะสังคม โดยไม่ปฏิเสธวิธีการใดเลยที่กล่าวมาข้างต้น ทั้ง 5 วิธี หากแต่ต้องเลือกใช้ตามบริบทของแต่ละตอนแต่ละเรื่องเท่านั้นเอง
วิธีที่ 5 จึงเป็นวิธีที่ส่งเสริมการสร้างสรรค์ได้กว้างขวางที่สุด เพราะยอมรับในทุกกรอบการตีความว่ามีความสำคัญด้วยกันมากน้อยแล้วแต่ปริมาณและคุณภาพของความรู้ของแต่ละคนซึ่งไม่คงที่ตายตัว แต่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเรื่อยไปได้ด้วยการแลกเปลี่ยนแบ่งปันความรู้แก่กัน โดยไม่ยึดมั่นแต่ในกรอบความรู้ของตน