Mirandola, Giovanni Francesco Pico della โยวันนี ฟรันเชสโค
ผู้แต่ง : กันต์สินี สมิตพันธ์
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
โยวันนี ฟรันเชสโค ปีโคแห่งมิรานโดลา (Giovanni Francesco Pico della Mirandola 1470-1533) เป็นหลานอาของโยวานนี ปีโค แห่งมิรานโดลา (Conte Giovanni Pico della Mirandola 1463-1494) อายุอ่อนกว่าอาเพียง 7 ปี แต่มีอายุยืนหลังอาถึง 39 ปี จึงมีโอกาสพัฒนาความคิดต่อไปอีกมาก
ฟรันเชสโคเป็นบุตรหัวปี มีสิทธิ์ได้ตำแหน่งเจ้านคร แต่ชอบปรัชญาเหมือนอา ปีโคผู้เป็นอาจึงแนะนำให้เรียนปรัชญาที่มหาวิทยาลัยแฟร์รารา จบแล้วถูกพวกน้องชายกีดกันไม่ให้เป็นเจ้านคร ก็ไม่ทุกข์ร้อนอะไร เร่ร่อนหาความรู้เรื่อยไป ในที่สุดชาวเมืองทนความวุ่นวายไม่ไหว พร้อมใจกันเชิญไปรับตำแหน่งตามสิทธิ์ แต่ก็ยังค้นคว้าและเขียนหนังสือปรัชญาต่อไปจนถึงแก่มรณกรรม
ฟรันเชสโคมีนิสัยไม่ชอบเสวนาความคิด จึงไม่ยอมรับและโจมตีปรัชญาอื่นทั้งหมด รับแต่ปรัชญาของเพลโทว์อธิบายศาสนาคริสต์เท่านั้น จึงมีแนวโน้มทางฌานนิยมแบบเพลโทว์ใหม่ ไม่เชื่อเหตุผลบริสุทธิ์และประสบการณ์ เชื่อแต่วิวรณ์และเหตุผลที่สนับสนุนวิวรณ์เท่านั้น
เขียนหนังสือ
-ว่าด้วยการเดาเรื่องราวต่าง ๆ 9 เล่ม (ลต. De rerumpraenotione= On the preknowledge of things) เพื่อต่อต้านโหราศาสตร์
-ว่าด้วยปรีชาญาณของพระเจ้าและของมนุษย์ 2 เล่ม (ลต.De Studio divinae et humanaesapientiae= On the Study of Divine and Human Wisdom) เพื่อต่อต้านปรัชญาอื่น ๆ พิจารณาความเท็จของศาสนาอื่น ๆ
-ความจริงในศาสนาคริสต์ (ลต. Examen vanitatis doctrinae gentium et veritatis Christianae disciplinae= Examination on the Vanity of teaching of The Gentiles and the Truth of the Christian Discipline) เพื่อคัดค้านศาสนาอื่น ๆ
ฟรันเชสโคไม่ยกย่องแอเริสทาเทิล เพราะคิดว่าความรู้ทางผัสสะมิได้ให้ความรู้ว่าวัตถุเป็นอะไร แต่ให้เรารู้แต่เพียงว่าผู้รู้มีสภาพอย่างไรเท่านั้น เหตุผลก็เชื่อไม่ได้ เพราะเป็นเพียงผลผลิตของปัญญาเท่านั้น ความจริงที่แน่นอนก็คือวิวรณ์ซึ่งเข้าใจได้ด้วยการเข้าฌาน จึงยกย่องปรัชญาของเพลโทว์และวิธีปฏิบัติศาสนกิจของซาโวนาโรลา