Melanchthon, Philip ฟีลิปป์ เมลางธัน
ผู้แต่ง : กันต์สินี สมิตพันธ์
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
เมลางธัน (Phillip Melanchthon 1497-1560) เป็นสาวกของมาร์ทิน ลูเธอร์ เกิดที่เบรทเทนในบาเดน (Bretten in Baden) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เดิมใช้นามสกุลเยอรมันว่า ชวาร์แซร์ท (Schwazert) แต่รอยช์ลิน (J. Reuchlin) ซึ่งเป็นลุงทางมารดาเป็นนักมนุษยนิยม เชี่ยวชาญทางภาษากรีก จึงเปลี่ยนนามสกุลเป็นภาษากรีกให้ว่าเมลางธัน ค.ศ.1509 เข้ามหาวิทยาลัยฮายเดลเบิร์ก เรียนเทววิทยาลัทธิธาเมิสจากสพานเกล (Spangel) ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของอากรีโกเลอ(Agricola 1444-1485) นักมนุษยนิยมชาวฮอลันดา ค.ศ.1512 ย้ายไปที่มหาวิทยาลัยทูบินเกนเพื่อเรียนวรรณคดีศึกษิต (กรีก-ละติน) ปรัชญา กฎหมาย คณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ แพทยศาสตร์ และคัมภีร์ไบเบิล ค.ศ.1518 รอยช์ลินก็ฝากฝังเข้าเป็นอาจารย์สอนภาษากรีกที่มหาวิทยาลัยวิทเทนเบิร์ก
เริ่มรู้จักและสนใจลูเธอร์ จนกลายเป็นเพื่อนกัน และร่วมมือกันปฏิรูปศาสนา ในระยะแรกถือได้ว่าเป็นสาวกมือขวาของลูเธอร์ทีเดียว ใช้ความรู้ความสามารถช่วยป้องกันลูเธอร์อย่างเต็มที่ ปีค.ศ.1528 ตั้งกลุ่มคริสตชนปฏิรูปขึ้นในแคว้นซากเสน ปี 1530 เรียบเรียงข้อเชื่อแห่งเอาส์บวร์ก (Augsburg Confession) สำหรับลัทธิลูเธอร์ ปีค.ศ.1536 ปรับปรุงหลักสูตรของมหาวิทยาลัยวิทเทนเบิร์ก โดยเน้นให้ค้นคว้าจากบ่อเกิดดั้งเดิมในภาษาฮีบรูและกรีก แทนที่จะเชื่อฉบับแปลเป็นภาษาละติน กลายเป็นแบบอย่างให้มหาวิทยาลัยอื่น ๆ ปรับปรุงหลักสูตรของตนในทำนองเดียวกัน เช่น เยนา, ลิปเซีย, ฟรังฟูร์ท, มาร์บวร์ก, รอสทอก, เกอนิกเบิร์ก เป็นต้น
เป็นเหตุให้เมลางธันได้สมญานามว่าเป็นครูของประเทศเยอรมนี (Praeceptor Germaniae) เมื่อท่านลูเธอร์ถึงแก่มรณกรรมในปี 1546 แล้ว เมลางธันก็อยู่ในฐานะผู้นำกลุ่มคริสตจักรปฏิรูป แต่คำสอนของท่านในระยะหลัง ๆ ไม่เป็นที่ยอมรับของกลุ่มปฏิรูปที่ถือแต่หลักดั้งเดิมของท่านลูเธอร์เท่านั้น ส่วนผู้รับรู้เมลางธันต่อไปจะได้ชื่อว่ากลุ่มนิยมฟิลิปป์ (Philippists)
หัวข้อคำสอนของเมลางธันที่แตกต่างจากคำสอนของลูเธอร์ที่สำคัญได้แก่
1) มนุษย์จะพ้นบาปได้ต้องอาศัยทั้งศรัทธาและความพยายามของตนเองร่วมกัน มนุษย์แต่ละคนจึงต้องตะเกียกตะกายสุดความสามารถของตนด้วย
2) ในศีลมหาสนิท (Holy Communion) พระเยซูมิได้สถิตย์อยู่จริง ๆ แต่เป็นเพียงสัญลักษณ์ให้ระลึกถึงพระเยซูเท่านั้น
3) ปรัชญามีบทบาทสำคัญในการเข้าใจความหมายของพระคัมภีร์ เมลางธันแนะนำให้ใช้ปรัชญาของแอเริสทาเทิลเป็นหลักและเสริมด้วยปรัชญาของเพลโทว์ ความคิดของนักปราชญ์กรีกอื่น ๆ ก็ไม่ควรละเลยศึกษา
4) ด้วยเหตุผลตามธรรมชาติ มนุษย์สามารถรู้เรื่องพระเจ้าได้พอสมควร เช่น ความมีอยู่ของพระเจ้า พระญาณสอดส่อง กฎของโลกซึ่งพระเจ้าทรงกำหนดไว้แน่นอนตายตัว