magic and philosophy ไสยศาสตร์กับปรัชญา
ผู้แต่ง : ศุภชัย ศรีศิริรุ่ง
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
กระแสปัญญาที่ค้นคว้าคู่เคียงกับระบบเครือข่ายเรื่อยมาก็คือไสยศาสตร์ (magic) ซึ่งแบ่งหน้าที่กันเป็น 2 สาย คือ โหราศาสตร์ (astrology) กับอคาธนิยม (occultism) ได้ผลออกมาที่พอจะเรียกได้ว่า เทคนิค แต่ยังไม่ถึงขั้นเทคโนโลยี
การค้นหาไสยศาสตร์เป็นกระแสสืบเนื่องจากกระบวนทรรศน์ที่ 2 ช่วงแรก กระแสนี้เข้มข้นมากในเมโสโพเทเมียและอียิปต์โบราณ ชาวกรีกได้ไปเรียนรู้มาและถ่ายทอดกันต่อ ๆ มา ชาวกรีกถ่ายทอดให้พลเมืองโรมันและกลายเป็นศาสตร์ดำต้องห้ามตลอดยุคกลาง แต่ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ เพราะไสยศาสตร์มิได้เลวไปเสียทั้งหมด นอกจากจะตีความไขว้เขวไปเอง เหมือนเรื่องอื่น ๆ ทั้งหลาย
ไสยศาสตร์พัฒนาอย่างเข้มข้นในยุโรปจนถึงสมัยฟื้นฟู จึงถือโอกาสแทรกเข้าในศิลปวิทยาการที่ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาทีละน้อยโดยไม่รู้ตัว นักปราชญ์จำนวนมากของสมัยฟื้นฟูเป็นทั้งนักวิทยาศาสตร์และนักเล่นแร่แปรธาตุในตัวคนเดียวกัน ทำให้แยกออกได้ยากว่าการปฏิบัติหรือทดลองใดเป็นวิทยาศาสตร์หรือไสยศาสตร์ วิธีการวิทยาศาสตร์ในช่วงนั้นจึงเป็นการทดลองวิทยาศาสตร์ปนไสยศาสตร์ และเมื่อค้นพบอะไรขึ้นมาก็เป็นผลสำเร็จทั้งของวิทยาศาสตร์และไสยศาสตร์ควบคู่กัน อย่างแพเรอเซลเซิส (Paracelsus 1493-1541) เป็นต้น
กฎวิทยาศาสตร์หลายกฎในขณะนั้นมีกลิ่นอายของไสยศาสตร์ เช่น Nature abhors vacuum (ธรรมชาติรังเกียจสุญญากาศ) เป็นต้น แน่นอนว่ากระแสนี้ไม่เชื่อระบบเครือข่ายของแอเริสทาเทิล แต่องค์การศาสนาคริสต์ขณะนั้นเชื่อถือคำสอนของแอเริสทาเทิลรองจากไบเบิล ถึงกับเรียกแอเริสทาเทิลว่า The Philosopher (นักปราชญ์ของเรา) จึงไม่ต้องแปลกใจที่คริสต์จักรตอนนั้น (ยังไม่แยกนิกายคาทอลิก โปรเตสแตนต์) ประณามความคิดที่ขัดแย้งหรือดูเหมือนขัดแย้งกับแอเริสทาเทิล เพราะเกรงว่าจะต้องขัดแย้งกับคัมภีร์ไบเบิลด้วย อย่างเช่นกรณีของกาลิเลโอ เป็นต้น