logical term เทอมเชิงตรรกะ
ผู้แต่ง : รวิช ตาแก้ว
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
เทอม (term) คือ การแสองออกของสังกัปต่างๆ
หน้าที่ของเทอม เทอมอาจจะทำหน้าที่เป็น ประธาน (subject) ถ้าแสดงส่วนหน้าของการติดสินออกมา หรือทำหน้าที่เป็น ภาคแสดง (predicate) ถ้าแสดงส่วนหลังของการตัดสินออกมา เช่น ประโยคว่านายแดง เป็น คน เทอม “นายแดง” ทำหน้าที่เป็นประธาน “คน” ทำหน้าที่เป็นภาคแสดง
ชนิดของเทอม เทอมมี 2 ชนิด คือ เทอมกระจาย (Distributed term) และเทอมไม่กระจาย (undistributed term)
เทอมกระจาย ได้แก่ เทอมที่กินความหมายถึงทุกหน่วยของมโนภาพ หรือครบทุกหน่วย ของจินตภาพ เช่น คนทุกคน สัตว์ทุกตัว ต้นไม้ทุกต้น นายแดง ไอ้ด่าง ทั้ง 3 คน ฯลฯ
เทอมไม่กระจาย ได้แก่ เทอมที่กินความหมายไม่หมดทุกหน่วยของมโนภาพ แต่อย่างน้อย 1 หน่วย หรือไม่ครบหน่วยของจินตภาพ คนบางคน สัตว์ส่วนมาก ต้นไม้เกือบทุกต้น รถยนต์คันหนึ่ง ครึ่งตัวของนายแดง ฯลฯ ให้สังเกตว่าขอให้กินความ 1 หน่วย ก็ใช้ได้แล้ว
วิธีดูว่าเทอมกระจายหรือไม่กระจ่าย
1. เทอมที่เป็นชื่อเฉพาะ ย่อมกระจายเสมอ เพราะกินความถึงทุกหน่วย ทุกครั้งที่อ้างถึงเช่น นายแดง ไอ้ด่าง ดาวจระเข้
2. เทอมที่บ่งจำนวนจำกัดตายตัว คือพูดออกไปแล้วผู้ฟังรู้ได้ทันทีว่า มีจำนวนทั้งหมดกี่หน่วย และนัยรูปนิรนัยเดียวกันนั้นมีการอ้างหน่วยอื่นอีก ย่อมกระจ่ายเสมอ เช่น คนนี้ สัตว์ตัวนั้น รถคันโน้น ต้นไม้สามต้นนี้ สุนัขเหล่านั้น เป็นต้น ถ้าแบ่งส่วนมาจากเทอมกระจายในรูปนิรนัยเดียวกันก็ต้องนับว่าไม่กระจาย เช่น
คนทุกคน เป็น มรรตัย
คนเหล่านี้ เป็น ผู้ไปเหยียบดวงจันทร์
เพราะฉะนั้น มรรตัยบางหน่วย เป็น ผู้ไปเหยียบดวงจันทร์
จะเห็นได้ว่าในรูปนิรนัยนี้ เทอม “คนนี้” แบ่งส่วนมาจาก เทอม “คนทุกคน” ทั้งสองเทอม จึงต้องถือว่าเป็นเทอมเดียวกัน ใช้ครั้งแรกกระจาย ครั้งที่สองไม่กระจาย
คนไทยทุกคน เป็น ผู้รักชาติ
คนนี้ เป็น คนไทย
เพราะฉะนั้น คนนี้ เป็น ผู้รักชาติ
จะเห็นว่าในรูปนิรนัยนี้ เทอม “คนนี้” มิได้เป็นส่วนหนึ่งของเทอมใดในรูปนิรนัยเดียกันจึงเป็นเทอมอิสระของตนเอง ต้องนับว่าเป็นเทอมกระจาย เพราะกินความถึงหน่วยซึ่งมีเพียงหน่วยเดียว