Leibniz on ethics ไลบ์นิซว่าด้วยจริยศาสตร์
ผู้แต่ง : รวิช ตาแก้ว
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
ไลบ์นิซมีความรู้ทุกอย่างในสมัยนั้น เป็นนักปรัชญา นักวิทยาศาสตร์ นักคณิตศาสตร์ นักประวัติศาสตร์ นักการทูต บิดาเป็นศาสตราจารย์ มารดาเป็นธิดาของศาสตราจารย์ ชอบวิธีการทูต คำสอนจึงไม่สู้แจ่มแจ้งอย่างที่ตั้งใจ เพราะต้องการประนีประนอมเอาใจทุกฝ่าย บางครั้งจึงตั้งใจพูดให้คลุมเคลือเพื่อเอาใจทุกฝ่าย จริยศาสตร์ของไลบ์นิซจึงมีลักษณะประนีประนอมเป็นฐาน เช่นกล่าวว่าเอกภพเป็นระบบของศูนย์กลางกัมมันต์จำนวนมาก (the universe is the system of active centers) คือ รวมสสารกับพลัง จิต กับกาย เป็นต้น
โมนาดมีความสมบูรณ์เป็นขั้น ๆ จากต่ำสุด (dull matter) ถึงสูงสุด (self-conocious mind) ขั้นที่เหลื่อมล้ำกันแต่ละขั้นละเอียดมากจนเกือบจะต่อเนื่อง (continuity of graduation) นั่นคือมีทั้งขั้นและการต่อเนื่อง โมนาดติดกันจนไม่มีช่องว่าง (There are no gaps and there can be no bridges) แต่ทว่าแต่ละหน่วยก็เป็นตัวของตัวเอง
ถ้าโมนาดเป็นเอกเทศแต่ละโมนาดก็ย่อมเป็นอิสระ ความสัมพันธ์ประสานงานเป็นระบบเครือข่าย (cosmos) จะมีได้อย่างไร ไลบ์นิซตอบว่าเนื่องจากพระเจ้าสร้างมา พระองค์ก็ย่อมจะทรงให้มีความกลมกลืนระหว่างโมนาดเหมือนนาฬิกาสองเรือน หรือดีกว่านั้นเหมือนเครื่องดนตรีหลายชนิด ต่างฝ่ายต่างเล่นของตน เสียงประสานกันได้ไพเราะ
โมนาดมนุษย์มีคุณภาพสูงสุดในบรรดาสิ่งสร้าง มนุษย์คนเดียวมีค่าเท่ากับทั้งโลกรวมกัน (A single spirit is worth a whole world) เนื่องจากมนุษย์มีความสำนึกตน (self-consciousness) จึงมีความรับผิดชอบ นั่นคือมีหน้าที่ทางศีลธรรม (moral order) และกำหนดคุณค่าศีลธรรมให้กับตัวเองได้ (self-determined)
ความดีคือการเลือกทำตามความกลมกลืนที่รู้ และมีหน้าที่ต้องรู้ คุณธรรมคือความรู้ (Virtue is knowledge) เป็นสัจธรรม เมื่อทำตามเกณฑ์นี้ก็เกิด การพัฒนาตน (self-realization)
มนุษย์โดยความโน้มเอียงตามธรรมชาติย่อมแสวงหาความดีให้ตนเองก่อน “รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี” เป็นกฎธรรมชาติข้อแรก (Self-preservation is the first law of nature) การรักตัวเองเป็นพลังกระตุ้นให้ทำความดี ถ้าเช่นนั้นการทำตามความโน้มเอียงธรรมชาติดีเสมอไปหรือไม่ ไลบ์นิซตอบว่า เพราะธรรมชาติชอบเดินทางตรง แต่ทางตรงไม่ใช่ทางดีเสมอไป จึงต้องใช้ปัญญาคิดเพื่อหากลยุทธ์แห่งความบริบูรณ์ (strategy of perfection)
ความบริบูรณ์ของคนเราก็คือ ต้องทำตัวของเราให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับความรู้แท้จริงของเรา อันได้แก่ ระบบเครือข่ายที่เหมาะเจาะกับทุกสิ่ง ซึ่งปรัชญาเรียกว่าพระเจ้า แอแนกแซเกอเริส(Anaxagoras) ว่า Nous(ปัญญา) ซาเครอทิส ว่า Demon(วิญญาณ) เพลโทว์ว่า Idea of the Good (มโนคติดี) แต่ไลบ์นิซเสริมว่า ได้แก่ ความก้าวหน้ามิรู้หยุดหย่อนสู่ความพอใจใหม่และความบริบูรณ์ใหม่ (a perpetual progress to new pleasures and new perfections) มิฉะนั้นจะไม่มีความสุขสมบูรณ์แบบ และที่จะมีความก้าวหน้าเสมอก็จะต้องมีความร่วมมือกับผู้อื่น (cooperation with others) ให้จงได้ ความร่วมมือนี้จะนำไปสู่สังคมในอุดมคติ ความสมานฉันท์(solidarity) อารยธรรมสูงขึ้น(higher civilization) ในปัจจุบันเราเรียกว่าสังคมอารยะ(civil society)
ในเมื่อโลกนี้เป็นโลกที่ดีที่สุดแล้ว ทำไมจึงมีความบกพร่องและความชั่วร้าย(evil) ให้เห็นอยู่เล่า ไลบ์นิซตอบว่าเป็นความจำเป็นของการเป็นโลกที่ดีที่สุด ซึ่งจะต้องมีความลดหลั่น พวกที่อยู่ปลาย ๆ แถวย่อมมีความสมบูรณ์น้อยลงตามลำดับ ความเลวและความบกพร่องจึงได้แก่การขาดความสมบูรณ์ที่อยากจะมี จึงรู้สึกว่าขาดแต่ความจริงไม่ขาด เพราะมันเป็นความสมบูรณ์ของระบบที่ต้องมีระดับต่ำเมื่อเทียบกับระดับสูง เรียกว่า ความเลวทางอภิปรัชญา (metaphysical evil) ไม่ใช่ความเลวทางศีลธรรม (moral evil) ไม่ใช่ความเลวจริง ๆ อันที่จริงนั้นเป็นสิ่งดีในตัว (metaphysical evil is also a good thing) เพราะไม่มีอะไรที่มีอยู่เป็นสิ่งเลวในตัว
ไลบ์นิซจึงสรุปว่าวิญญาณมนุษย์ต้องเป็นอมรรไตย(immortal) เพราะโมนาดของมนุษย์ไม่เหมาะกับสภาพของโลกนี้ ไม่ใช่สภาพที่เหมาะของมนุษย์ ในระบบเครือข่ายนิรันดรมีที่ ๆ เหมาะกว่าโลกนี้