Know thyself จงรู้จักตน
ผู้แต่ง : ศุภชัย ศรีศิริรุ่ง
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
แก่นแท้หรือความเป็นจริงของชีวิตที่มนุษย์ทุกคนสามารถรู้ได้โดยไม่ต้องไปมองหาที่ไหน เพียงแค่มองย้อนกลับมาดูภายในจิตใจของตนเอง ก็จะพบกับความเป็นจริงนั้นด้วยตนเอง ดังคำกล่าวของ Socrates ว่า “จงรู้จักตนเอง” (ในขณะไร้กิเลสชักนำให้ไขว้เขว) ซึ่ง Socretes รู้ตัวเองว่า ตนยังไม่บรรลุถึง
การรู้จักตนเอง สามารถทำได้ผ่านการดูจิตใจของตนเองโดยการระลึกรู้สภาวะจิตของตนที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละขณะ ซึ่งจะรู้ได้เฉพาะตนเท่านั้นผ่านทาง อัชฌัตติกญาณ (intuition) รู้ความเป็นจริงโดยเข้าถึงความเป็นจริงโดยตรง ไม่ต้องอาศัยการอ้างเหตุผล การวิเคราะห์และปรุงแต่งของสมอง ซึ่งรู้ได้เฉพาะตนโดยไม่ผ่านโครงสร้างสมอง แม้จะไม่สามารถนำมาแสดง แถลง ออกมาเป็นรูปธรรมได้ แต่ก็เชื่อได้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามความเป็นจริง
มนุษย์แสวงหาความจริงและสะสมเป็นความรู้มาตลอดด้วยสมรรถภาพคิดของสมอง ระบบความรู้ของมนุษย์มีบ่อเกิดจากแหล่งความรู้ที่แตกต่างกัน หลายทาง ได้แก่
1. ความรู้เชิงประจักษ์ (Empirical knowledge) ที่รับรู้ผ่านประสบการณ์ ประสาทสัมผัส
2.ความรู้เชิงตรรกะ (Logical knowledge) เป็นความรู้ที่ได้ผ่านการอนุมาน(inference) สรุปผลมาจากความรู้อื่น ตามหลักการอ้างเหตุผล ทั้งโดยนิรนัยและอุปนัย
3. ความรู้แบบประจักษ์แจ้งด้วยใจ/อัชฌัตติกญาณ (intuitive knowledge) เป็นความรู้ที่ได้มาโดยตรงโดยไม่ผ่านสื่อกลางใด ๆ
ความรู้ที่ได้จากแหล่งความรู้ทั้งสามล้วนมีประโยชน์ แต่ควรได้รับการประเมินค่าด้วยใจเป็นกลางว่าความรู้แต่ละอย่างนั้นมีจุดเด่น จุดด้อยอย่างไรบ้าง และพร้อมที่จะนำความรู้แต่ละชนิดมาใช้ให้เหมาะแก่สถานการณ์โดยไม่ยึดมั่นถือมั่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่ควรมองข้ามความรู้แบบประจักษ์แจ้งด้วยใจ/อัชฌัตติกญาณ ที่แต่ละศาสนานำมาใช้ในการแสวงหาความเป็นจริง
การใช้อัชฌัตติกญาณเพื่อรู้ความเป็นจริงปรากฏในแทบทุกศาสนา ในที่นี้ขอนำเสนอแนวทางปฏิบัติของพระพุทธศาสนา ในการเจริญวิปัสสนาตามหลักสติปัฏฐาน 4 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหัวข้อ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ที่เป็นการใช้จิตตามดูรู้ภาวะจิตตนเองโดยตรงและไม่ผ่านสื่อกลางใด ๆ เนื่องจากเป็นการระลึกรู้ภาวะจิตของตัวผู้รู้เอง ทั้งผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้จึงเป็นสิ่งเดียวกัน ความรู้ที่ได้จึงน่าจะตรงกับสภาวะความเป็นจริง พระพุทธเจ้าทรงเสนอวิธีการไว้ปรากฏใน มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ความว่า
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่อย่างไรเล่า?ภิกษุในธรรมวินัยนี้ จิตมีราคะ ก็รู้ชัดว่า จิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะ ก็รู้ชัดว่า จิตปราศจากราคะ จิตมีโทสะ ก็รู้ชัดว่า จิตมีโทสะ หรือจิตปราศจากโทสะ ก็รู้ชัดว่า จิตปราศจากโทสะ หรือจิตมีโมหะ ก็รู้ชัดว่า จิตมีโมหะ หรือจิตปราศจากโมหะ ก็รู้ชัดว่า จิตปราศจากโมหะ จิตหดหู่ ก็รู้ชัดว่า จิตหดหู่ หรือจิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ชัดว่า จิตฟุ้งซ่าน…พิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในจิต บ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมในจิตบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในจิตบ้าง ย่อมอยู่ อนึ่ง สติของเธอตั้งมั่นอยู่ว่า จิตมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว แล้วไม่ถือมั่นอะไร ๆ ในโลก ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่.”
เมื่อตามรู้ไปก็จะพบเองว่าความเป็นจริงที่เป็นแก่นแท้ของตัวมนุษย์ก็คือภาวะจิตของตนในปัจจุบันขณะนั่นเอง ที่ไม่เที่ยง ไม่คงที่ มีแต่จะแปรเปลี่ยนเกิด ดับไปอยู่ตลอดเวลา เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย เดี๋ยวเฉย ๆ ตามเหตุปัจจัยต่าง ๆ ที่มากระทบ ถ้าฟุ้งซ่านปรุงแต่งต่อไปก็ไม่มีวันสงบและเป็นทุกข์ ถ้าตามรู้ได้โดยไม่ยึดมั่นและไม่ปรุงแต่งต่อไปก็ดับทุกข์ได้จริงตามหลักการพัฒนาจิตในพระพุทธศาสนา