Kierkegaard on religion ศาสนาของคีร์เคกอร์ด
ผู้แต่ง : กันต์สินี สมิตพันธ์
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
ผู้นับถือศาสนาเพื่อผลประโยชน์หรือเพราะศาสนามีความงามและให้ความบันเทิง ผู้นั้นมีอัตถิภาวะในระดับสุนทรียะ ส่วนผู้ที่นับถือศาสนาหรือสนใจศาสนาในฐานะที่มีอุดมการณ์สูงส่งให้ยึดถือในด้านความประพฤติ ถือว่ามีมีอัตถิภาวะในระดับจริยะ เฉพาะผู้ที่นับถือศาสนาด้วยศรัทธาเท่านั้นจึงจะจัดว่ามีมีอัตถิภาวะในระดับศาสนา มีอัตถิภาวะในระดับนี้จะต้องได้ผ่านระดับจริยะมาก่อน เมื่อรู้สึกไม่จุใจก็ตัดสินใจกระโดดข้ามความลังเลใจ ยอมเสี่ยงมีศรัทธาต่อสิ่งเหนือธรรมชาติ ทั้งๆที่ไม่มีหลักฐานเพียงพอให้เชื่อถือได้ แต่เชื่อว่าจะทำให้มีอัตถิภาวะของตนสูงส่งขึ้น การกระโดดขึ้นสู่ระดับศาสนาคีร์เคกอร์ดเรียกว่าเป็นการกระโดดด้วยศรัทธา (the leap of faith)
ลักษณะพิเศษของศาสนาสำหรับคีร์เคกอร์ดก็คือ ประติทรรศน์ มีอัตถิภาวะที่ก้าวหน้าถึงระดับศาสนาแล้วจะรู้สึกเป็นเรื่องธรรมดา จำเป็นสำหรับศาสนาที่จะต้องมีประติทรรศน์ มิฉะนั้นก็จะไม่ผิดอะไรกับระดับอื่นๆ สำหรับอัตถิภาวะที่ก้าวหน้ายังไม่ถึง จะเห็นเป็นเรื่องไร้สาระเป็นไปไม่ได้จึงไม่ยอมรับ หรือมิฉะนั้น ก็หาวิธีอธิบายตามแบบปรัชญาให้หมดสิ้นประติทรรศน์ กลายเป็นการลดฐานะศาสนาลงสู่ระดับปรัชญาอย่างที่เฮเกลได้กระทำไปแล้ว เป็นการลดศักดิ์ศรีศาสนาลงอย่างยิ่ง ผิดวัตถุประสงค์ของศาสนาอย่างที่สุด อัตถิภาวะที่เข้าถึงระดับศาสนาแล้วจะไม่มีความกังวลใจอันใดเลย เพราะเข้าใจดีว่าประติทรรศน์เป็นสิ่งจำเป็นในคำสอนของศาสนา “มโนคติของปรัชญาเป็นสื่อ แต่มโนคติของคริสตศาสนาเป็นประติทรรศน์” และการที่ประติทรรศน์เช่นนี้ส่อให้เห็นว่าอยู่ในระดับสูงกว่าปรัชญา “มีโลกทรรสฯที่เห็นว่าประติทรรศน์มีศักดิ์ศรีสูงกว่าระบบอื่นๆ ทั้งหมด” โลกทรรศน์นั้นก็คือลัทธิอัตถิภาวนิยมของคีร์เคกอร์ดนั่นเอง ให้สังเกตอย่างหนึ่งว่า คีร์เคกอร์ดอ้างถึงคริสตศาสนาในฐานะตัวแทนของทุกศาสนาเมื่อกล่าวถึงปัญหาศาสนาโดยทั่วไป
คีร์เคกอร์ดจัดอันดับของประติทรรศน์ในศาสนาต่างๆ ออกเป็น 3 ระดับ จากต่ำไปหาสูง โดยลอกจาก คาร์ล โรเซนครันซ์ (Karl Rosenkranz) ดังนี้
– Der Mensch is Gott(มนุษย์คือพระเจ้า) ได้แก่ ศาสนาพหุเทวนิยม
– Gott is Gott(พระเจ้าคือพระเจ้า) ได้แก่ ศาสนาเอกเทวนิยม
– Gott is Mensch (พระเจ้าคือมนุษย์) ได้แก่ คริสตศาสนา
ประติทรรศน์สูงสุดในคริสตศาสนา คีร์เคกอร์ดเรียกว่า ประติทรรศน์อสัมพันธ์ (absolute paradox) ทำให้คีร์เคกอร์ดตัดสินใจให้คริสตศาสนามีฐานะสูงว่าศาสนาอื่นๆ
ประติทรรศน์อสัมพันธ์ดังกล่าวนี้ ได้แก่ คำสอนที่ว่า พระเยซูคริสต์เป็นมนุษย์พระเจ้า นั่นคือ ทรงเป็นทั้งพระเจ้าและมนุษย์ในเวลาเดียวกัน ทรงเป็นผู้ที่ไม่มีขอบเขตและมีขอบเขตในเวลาเดียวกัน นอกจากนั้น พระเยซูคริสต์ยังประกาศว่าพระองค์เองคือความจริง “เราคือความจริง” (ยอห์น. 14.6)
เรื่องนี้เป็นประติทรรศน์ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเรื่องแรก เพราะคำว่า “เรา” หมายความว่า เป็นเรื่องในกาลาวกาศ ส่วนคำว่า “ความจริง” หมายความว่า เป็นเรื่องนอกกาลาวกาศ ปรัชญาต้องประสบปัญาใหญ่จึงจะใหญ่ คริสตศาสนาใหญ่เพราะถือกำเนิดขึ้นอย่างพิสดาร คือ ทั้งอยู่ในประวัติศาสตร์และนิรันดรภา