Khandha as reality ขันธ์กับความเป็นจริง
ผู้แต่ง : ศุภชัย ศรีศิริรุ่ง
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
พระไตรปิฎกระบุว่าตัวคนเราประกอบด้วยขันธ์ 5ซึ่งพิจารณาในเชิงอภิปรัชญาสากล ได้ดังต่อไปนี้
1.รูป คือ ร่างกายของคนเรา (body) ตามระดับปรมัตถ์ ประกอบขึ้นมาจากมหาภูตรูป 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ นอกนั้นเป็นบัญญัติ เช่น ความสวยงาม ความแข็งแรง ความคล่องแคล่วในการใช้อวัยวะเหล่านี้ล้วนแต่เป็นบัญญัติไม่เที่ยงถาวร มีแต่ความเป็นจริงระดับปรมัตถ์เท่านั้นที่คงสภาพของตนความเป็นจริงของรูปในระดับอภิปรัชญาคือความสืบเนื่องของการเกิดดับอย่างไม่มีต้นไม่มีปลาย
2.วิญญาณ คือ การรับรู้ (consciousness) ต่อรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และอารมณ์ วิญญาณที่กล่าวถึงในขันธ์ 5 นี้ไม่ตรงกับ soul ในภาษาอังกฤษ แต่ตรงกับ consciousness (การรู้สำนึก) มากกว่า เพราะวิญญาณที่กล่าวถึงนี้เกิดและดับอยู่ตลอดเวลา คือเมื่อมีสิ่งเร้ามากระทบประสาทภายนอก จะเป็นรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส หรืออารมณ์มากระทบประสาทภายใน แต่ละครั้งจะเกิดวิญญาณขึ้นดวงหนึ่ง ๆ เป็นวิญญาณดวงหนึ่งที่เกิดขึ้น แล้วก็หายไปในทันทีที่สิ่งเร้าหรืออารมณ์นั้นสิ้นผลการกระทำของมัน เมื่อมีการเร้าใหม่ก็เกิดวิญญาณดวงใหม่ขึ้น ไม่ใช่วิญญาณดวงเก่าทำงานใหม่ แต่เป็นวิญญาณดวงใหม่เกิดขึ้นตอบสนองสิ่งเร้า วิญญาณดวงเก่านั้นดับไปแล้วพร้อมกับการเร้าที่ล่วงพ้นไป ในทำนองนี้แหละเราจึงเรียกว่าวิญญาณเกิด-ดับ เกิด-ดับ อยู่ตลอดเวลา โดยที่ดวงวิญญาณใหม่ทุกวงเกิดจากการดับของวิญญาณสุดท้ายที่ดับไป ความเป็นจริงของวิญญาณในระดับอภิปรัชญาคือความสืบเนื่องของการเกิดดับอย่างไม่มีตนไม่มีปลาย
3.เวทนา คือ ความรู้สึก (feeling) รับรองวิญญาณที่เกิดขึ้นแต่ละดวงว่า ชอบหรือไม่ชอบหรือวางเฉย โดยตัดสินเทียบกับรสนิยมที่เป็นวิบากตามกฎแห่งกรรม ถ้าชอบก็เรียกว่า สุขเวทนา ถ้าไม่ชอบก็เรียกว่าทุกขเวทนา ถ้าไม่ยินดียินร้ายหรือเฉย ๆ ก็เรียกว่า อุเบกขาเวทนา อาจจะเพิ่มได้อีก 2 อย่างคือ ถ้าชอบมาก ๆ ก็เรียกว่าโสมนัสสเวทนา ถ้าไม่ชอบเอามาก ๆ ก็เรียกได้ว่าโทมนัสสเวทนาในเชิงอภิปรัชญาเวทนาไม่ใช่ความเป็นจริง แต่เป็นจรสมบัติ (ดู accident) ประเภทการกระทำ (action) ของวิญญาณแต่ละดวงที่เกิดขึ้นและดับไปพร้อมกัน
4.สัญญา คือ ความจำ จำการรับรู้และความรู้สึกที่เกิดขึ้นในอดีต จำความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้กับความรู้สึกชอบไม่ชอบที่เคยผ่านมา จำได้มากได้น้อยแล้วแต่ความสามารถของแต่ละบุคคลและแล้วแต่การฝึกฝน อันเป็นวิบากตามกฎแห่งกรรม ในเชิงอภิปรัชญาเวทนาไม่ใช่ความเป็นจริง แต่เป็นจรสมบัติ (ดู accident) ประเภทการกระทำของวิญญาณแต่ละดวงที่เกิดขึ้นและดับไปพร้อมกัน
5.สังขาร คือ ความโน้มเอียงซ้ำของเดิมจนกลายเป็นนิสัย ก่อกิเลสขึ้นในตัว คือวิญญาณใดบันดาลสุขเวทนา (หรือโสมนัสสเวทนา) เราจำไว้ในสัญญา แล้วก็อยากจะให้เกิดวิญญาณเช่นนั้นอีก เพื่อจะได้รับเวทนาที่ชอบนั้น เมื่อไม่เกิดขึ้นเองก็แสวงหา ครั้นชินเข้าก็เป็นนิสัย เรียกว่า จมอยู่ในกองกิเลส อยากได้ร่ำไป ยิ่งจมอยู่นานเท่าไรก็ยิ่งถอนตัวยากเท่านั้น ตรงข้ามถ้าเป็นวิญญาณที่ทำให้เกิดทุกขเวทนา (หรือโทมนัสสเวทนา) ใจเราอยากหลีกเลี่ยง เช่น การทำบุญ การเสียสละ หากยอมคล้อยตามบ่อย ๆ ที่สุดใจเราก็เคยชิน เป็นคนเห็นแก่ตัว ไม่รู้จักเมตตาสงสารใคร ครั้นจะฝึกขึ้นภายหลังก็ต้องหักใจเป็นการใหญ่
ในเชิงอภิปรัชญาสังขารของขันธ์ 5 ไม่ใช่ความเป็นจริง แต่เป็นจรสมบัติ (accident) ประเภทคุณภาพ (quality) ของวิญญาณแต่ละดวงที่เกิดขึ้นและดับไปพร้อมกัน