John of Damascus จอห์นแห่งเดอแมสเคิส
ผู้แต่ง : กันต์สินี สมิตพันธ์
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
จอห์นแห่งเดอแมสเคิส (John of Damascus) เรียกได้อีกอย่างว่าจอห์น เดเมิสซีน (John Damascene?-749) เป็นชาวเดอแมสเคิส เชื้อสายอาหรับได้รับการศึกษาแบบคริสต์ตะวันออก จึงเขียนเป็นภาษากรีก ขยันค้นคว้าหาความรู้ จึงนับได้ว่าเป็นนักปราชญ์ผู้รอบรู้ที่สุดแห่งระยะมืดของยุคกลาง แต่ก็ไม่ได้คิดอะไรขึ้นมาใหม่อย่างเป็นล่ำเป็นสัน จุดเด่นของเดเมิสซีนก็คือรวบรวมความคิดเห็นของสมัยของตนได้ยอ่างกว้างขวางละเอียดลออ อธิบายได้อย่างชัดเจน กะทัดรัด และสรุปได้อย่างรัดกุมถุกประเด็นที่ต้องการ อาจกล่าวได้ว่าเดเมิสซีนเป็นหัวเลี้ยวจากสมัยปิตาจารย์เข้าสู่สมัยอัสสมาจารย์ เพราะหลังจากมรณกรรมของเดเมิสซีนได้ไม่นาน ชาร์ลมาญก็จะเริ่มตั้งตัวได้ในประเทศฝรั่งเศส และจะเริ่มฟื้นฟูปรัชญาตะวันตกให้พ้นจากระยะมืดแห่งสมัยปิตาจารย์เข้าสู่ระยะฟื้นฟูจองสมัยอัสสมาจารย์ ในการฟื้นฟูครั้งนี้ งานนิพนธ์ของเดเมิสซีนจะมีบทบาทสำคัญ เพราะจะมีผู้แปลออกเป็นภาษาละตินและจะเป็นพื้นฐานของการศึกษาปรัชญาในระยะรุ่งเรือง
ปรัชญา เดเมิสซีนเป็นเจ้าของนิยามว่า “ปรัขญาคือศีลปะแห่งศีลปะทั้งหลาย และเป็นวิทยาการแห่งวิทยาการทั้งหลาย” (philosophy is the art of arts and science of sciences) แยกปรัชญาออกเป็น 2 สาขาคือ
ปรัชญาคำนึง (speculative philosophy) ได้แก่ เทววิทยา สรีรวิทยา และคณิตศาสตร์
ปรัชญาปฏิบัติ(practical philosophy) ได้แก่ จริยศาสตร์ เคหเศรษฐศาสตร์ (domestic economy) และการเมือง
สำหรับเดเมิสซีนความรู้ทุกอย่างเป็นปรัชญา
พระเป็นเจ้า
ธรรมชาติของพระเป็นเจ้า พระเป็นเจ้าทรงอยู่เหนือสิ่งมีอยู่และการมีอยู่ทั้งหลาย พระองค์ทรงอยู่เหนือความรู้ทั้งหลาย มนุษย์จึงไม่อาจจะเข้าใจพระองค์ได้ (incomprehensible) และไม่อาจจะบรรยายถึงพระองค์ได้ (ineffable) อย่างมากก็พูดได้แต่เพียงว่า พระองค์ไม่เป็นอะไรเท่านั้น (negative way)
สรุป แม้จะถือว่าเดเมิสซีนเป็นผู้รวบรวมความคิดปรัชญาปิตาจารย์เพื่อส่งมอบให้แก่นักปรัชญาอัสสมาจารย์ แต่ก็สังเกตได้ว่าเดเมิสซีนได้แต่รวบรวม ไม่มีความสามารถถึงกับจัดเนือ้หาให้สัมพันธ์กันเป็นระบบด้วยเหตุผล และยังไม่สนใจหาเหตุผลของคำสอนที่รวบรวมไว้มากนัก ทั้งสองเรื่องนี้จะเป็นภารกิจ โดยตรงของนักปรัชญาอัสสมาจารย์ ซึ่งเราจะได้เห็นกันในบทต่อไปว่ามิใช่จะทำได้สำเร็จในทันที นักปรัชญาจะต้องพากเพียรค้นคว้าสืบต่อเนื่องกันหลายชั่วคน ต้องแก้ไขปรับปรุงกันเป็นทอดๆ ไปจนกว่าจะได้ระบบปรัชญายุคกลางที่เด่นชัดในศตวรรษที่ 13 แน่นแฟ้นและลึกซึ้งที่สุดในระบบความคิดของอไควเนิส