Isidore of Seville, Saint อีเสอดอร์แห่งเซเวิล
ผู้แต่ง : กันต์สินี สมิตพันธ์
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
อีเสอดอร์แห่งเซเวิล (Saint Isidore of Seville 560?-636) เป็นน้องชายของลิแอนเดอร์อัครสมณราชแห่งเซเวิล (Leander of Seville) ของเฟิลเจนเชิสสมณราชแห่งคาร์เธอจีเนอ (Fulgentius of Carthagena) และของฟลาเรินทายเนอ (Florentina) อธิการิณีของอารามแห่งหนึ่งในเซเวิล อีเสอดอร์เข้ารับการสึกษาในอารามนักพรตของเมืองเซเวิล สนใจรู้ทุกอย่าง เมื่อสมัครเป็นนักพรตแล้วก็ยังขวนขวายหาความรู้ยิ่งขึ้น
ต่อมาได้รับเลือกเป็นอัครสมณราชแห่งเซเวิลสืบต่อจากพี่ชายส่งเสริมการศึกษาในเซเวิลและทั่วสเปน โดยการจัดหลักสูตร เขีนตำรา เทศน์ สอนและประชุมสังคายนาย่อยหลายครั้ง ครั้งสำคัญที่สุดก็คือสังคายนาย่อยแห่งเทอลีโดว์ ครั้งที่ 4 (The Fourth Toledo Council) ในปี ค.ศ. 633 ซึ่งมีข้อตกลงที่สำคัญว่า
1) ให้แต่ละสมณมณฑลจัดตั้งสถานอบรมสมณะประจำคริสตคาม (parish) โดยเฉพาะ โดยมีหลักสูตรการศึกษาที่เหมาะสม
2) ให้สมณะทุกรูปถือโสด และ
3) ให้ประเทศสเปนประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในลักษณะเดียวกัน
ปัญหานำสำหรับอีเสอดอร์ก์คือ ทำอย่างไรจึงจะได้คู่มือการศึกษาสำหรับนักบวชและนักพรตทั้งหลายของสมัยนั้น อีเสอดอร์ใช้ความรู้ความสามารถของตนรวบรวมประมวลความรู้ขึ้นไว้ให้สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะรวบรวมได้ อย่างไรก็ตาม ความเด่นของอีเสอดอร์อยู่ท่สนามารถก็บรวยรวมความรู้ได้กว้างขวางที่สุดของสมัยนั้น โดยเก็บจากนักปราชญ์จำนวนมาก แม้ตนเองเกือบจะไม่ได้คิดอะไรขึ้นมาใหม่ หรือแม้จะคิดแต่ก็ไม่ลึกซึ้งกว่าที่มีอยู่ก่อน
ปัญหาแกนสำหรับอีเสอดอร์จึงได้แก่ปัญหาว่าจะเลือกคำตอบของคารในปัญหาใด การตัดสินใจเลือกของอีเสอดอร์นับว่าถูกใจนักปราชญ์คริสต์ต่อมาเป็นส่วนมาก จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นนักปราชญ์ยอดเยี่ยมของคริสจักร (ลต. Doctor Egregius) เป็นนักแต่งสารานุกรมคนแรกของโลก เป็นนักการศึกษาสำคัญของยุคกลางและเป็นแสงสว่างดวงใหญ่ที่สุด (แม้แสงจะไม่จ้าที่สุด) ในท่ามกลางความมืดของยุโรปในขณะนั้น ประมวลความคิดของอีเสอดอร์จึงเหมือนกับเป็นบทสรุปงานวิจัยของนักปรัชญาปิตาจารย์ทั้งหมด