ineffable, the อวจนีย์
ผู้แต่ง : ศุภชัย ศรีศิริรุ่ง
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
“ซึ่งไม่สามารถอธิบายได้ พูดไม่ได้ กล่าวถึงไม่ได้”
เป็นข้อจำกัดของภาษาในการสื่อสารประสบการณ์บางอย่างของมนุษย์ ว่า โดยแท้จริงแล้ว ภาษานั้นไม่ใช่เครื่องมือสื่อสารความเป็นจริงที่ดีสมบูรณ์แบบเลยเพราะไม่สามารถสื่อสารความเป็นจริงได้ตรงทั้งหมด ดังที่ วจนศูนย์นิยม (Logocentrism) เชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประสบการณ์ทางศาสนาและความเป็นจริงสูงสุดทางศาสนา ที่มีผู้เข้าถึงแล้วแต่เมื่อต้องมาอธิบาย ก็ไม่สามารถอธิบายออกมาเป็นภาษาได้อย่างตรง ๆ จึงต้องใช้วิธีการปฏิเสธมาช่วย กล่าวคือ เมื่อต้องอธิบายถึงความเป็นจริงสูงสุดในศาสนาของตนทุกศาสนาล้วนประสบปัญหาในการใช้ภาษาเช่นเดียวกัน
ในพระไตรปิฎก กล่าวถึง พระนิพพาน ว่า “…ไม่มีดิน ไม่มีน้ำ ไม่มีไฟ ไม่มีลม ไม่ใช่อากาสานัญจายตนะ ไม่ใช่วิญญาณัญจายตนะ ไม่ใช่อากิญจัญญายตนะ ไม่ใช่เนวสัญญานาสัญญายตนะ ไม่ใช่โลกนี้ ไม่ใช่โลกอื่น ไม่ใช่โลกทั้งสอง ไม่ใช่พระอาทิตย์ และพระจันทร์..”
ในขณะที่ คัมภีร์พฤหทารัณยอุปนิษัทของ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ก็กล่าวถึง ปรพรหม ไว้ว่า “สิ่งที่ไม่มีการเสื่อมสลาย ซึ่งผู้ฉลาดเคารพบูชานี้ เป็นสิ่งที่ไม่หยาบ ไม่ประณีต ไม่สั้นไม่ยาว ไม่มีเงา ไม่มีความมืด ไม่มีอากาศ ไม่มีช่องว่าง ไม่มีอุปาทาน ไม่มีรส ไม่มีกลิ่น ไม่มีรูป ไม่มีคำพูด ไม่มีจิต ไม่มีแสงสว่าง ไม่มีลมหายใจ ไม่มีหู ไม่มีปาก ไม่มีข้างนอก ไม่มีข้างใน มันไม่กินอะไรและไม่มีอะไรกินมัน…”
ในเต๋าเต็กเก็งก็มีคำบรรยายในทำนองเดียวกันว่า “สิ่งหนึ่งเดียวนี้ ขึ้นบนไม่สว่าง ลงล่างไม่มืด ดำรงอยู่ตลอดโดยไม่อาจบรรยายรูปพรรณสันฐาน มิอาจบ่งชื่อว่าเป็นสิ่งใด หวนคืนสู่ความไม่มีอะไร คือรูปที่ไร้รูป คือสันฐานที่ไร้สันฐาน เหมือนดั่งมี เหมือนดั่งไม่มี เหมือนประจันหน้าก็ไม่เห็นส่วนหน้า เหมือนตามหลังก็ไม่เห็นส่วนหลัง…”
กระทั่งแนวคิดของ ดายเออนีเชียสเทียม (Pseudo-Dyonicious ?-500) ที่มีต่อการกล่าวถึงพระเจ้าในคริสต์ศาสนาผ่านทางภาษาว่า “จะเรียกพระเจ้าด้วยนามอะไรก็ผิดทั้งนั้น ที่พอจะใช้เรียกพระเจ้าได้ก็เห็นมีแต่สำนวนปฏิเสธเท่านั้น เช่น พระเจ้าไม่มีขอบเขต พระเจ้าไม่มีรูปร่าง พระเจ้าไม่ต้องการตรรกวิทยา เป็นต้น”
จะเห็นว่าเมื่อกล่าวถึงความเป็นจริงสูงสุดแล้ว ทุกศาสนาล้วนใช้วิธีปฏิเสธในการอธิบายความแทบทั้งสิ้น เนื่องเพราะไม่มีภาษาสามัญและภาษาอุดมคติใด ๆ ที่จะสามารถสื่อความหมายและอธิบายความอย่างตรง ๆได้ ทำให้เข้าใจได้ว่า ความเป็นจริงสูงสุดของแต่ละศาสนานั้นน่าจะมีความสัมพันธ์กันอยู่บ้าง เป็นความจริงที่ซ้อนทับกันหรือจริงร่วมกันอยู่บ้างหรือแม้กระทั่งอาจเป็นความจริงเดียวกันก็ยังเป็นไปได้ จึงควรร่วมมือ แลกเปลี่ยนกันศึกษา และเก็บส่วนที่เห็นว่าดีและเหมาะสมมาใช้ เป็นวิถี เพื่อให้สามารถเข้าถึงความเป็นจริงสูงสุดของแต่ละบุคคลในแต่ละศาสนา ที่แม้จะมีชื่อเรียกต่าง ๆ กัน แต่โดยสาระหรือแก่นแล้วอาจจะไม่แตกต่างกันเลย