induction อุปนัย
ผู้แต่ง : พระปรียะพงษ์ คุณปัญญา
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
อุปนัย ( induction ) คือ วิธีการหาเหตุผลโดยการพิสูจน์จากประสบการณ์เฉพาะหน่วยเพื่อยืนยันถึงความน่าเชื่อถือความรู้ทั่วไปที่เรายังไม่แน่ใจ
ความสมเหตุสมผลของอุปนัย ( validity of induction ) คือ จะต้องเกิดจากประสบการณ์ตรงและมีลักษณะที่ผู้พบเห็นสิ่งนั้นๆ ปักใจเชื่อ (assent) คือ หมายรู้ว่า ลักษณะดังกล่าวนั้นเป็นลักษณะเฉพาะของสิ่งนั้น เช่น คนไทยทุกคนเคยเห็นต้นมะพร้าวมาตั้งแต่เกิดแล้ว ซึ่งลักษณะเฉพาะของต้นมะพร้าวดังกล่าวนั้น ไม่มีกิ่งก้านเหมือนต้นไม้อื่นๆ คนไทยทุกคนก็จะคิดโดยการอนุมานลักษณะทั่วไปของต้นมะพร้าวด้งกล่าวได้ว่า “ เป็นต้นไม้ชนิดหนึ่งที่ไม่แตกกิ่งก้านสาขา” กรณีนี้เรามีสิทธิปักใจเชื่อได้มากที่สุด เพราะว่าเราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีธรรมชาติ แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่เพียงพอ
สำหรับกรณีที่มีประสบการณ์ที่น้อยเกินไป หรือหาตัวอย่างในการที่นำมาเป็นตัวกำหนดในการปักใจเชื่อยังไม่เพียงพอ ทำให้ขาดการอนุมานในกรณีดังกล่าว ซึ่งจะเห็นได้ว่าวิธีอุปนัยมีกฏความสมเหตุสมผลเพียงกฏเดียวก็จริง แต่ในรูปของการลงมือปฏิบัติแล้ว ตัดสินความสมเหตุสมผลได้ยากกว่าหลักเกณฑ์การตัดสินแบบนิรนัยมาก เพราะว่าวิธีการอุปนัยนั้นจำต้องอาศัยหรือกำหนดให้ได้อนุมานที่แน่นอนว่า เมื่อไรจึงจะปักใจได้ ทั้งนี้ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญไหวพริบ การเป็นคนช่างสังเกต ของผู้ที่ปฏิบัติวิธีอุปนัยเป็นปัจจัยสำคัญในการอนุมาน
ดังนั้น การหาเหตุผลอย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์อุปนัยนั้น ก็ยังไม่อาจสามารถให้ความแน่นอนในผลสรุปที่เกิดขึ้นได้อย่างเบาใจนัก เป็นแต่เพียงว่าเป็นการให้ความน่าจะเป็น ( probability ) ถึงความเป็นไปได้ของสิ่งนั้นๆมากน้อยเพียงใด เท่านั้นเอง นักตรรกวิทยาจึงมีหน้าที่ค้นหาวิธีดำเนินการพิสูจน์ให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว
อย่างไรก็ตามมี 2 ตัวการ (factor) ที่พึงระวังมิให้ทำลายความแม่นยำของวิธีการอุปนิสัย คือ 1. ตัวการไม่เกี่ยว (ดู irrelevant factor) และตัวการรอดพ้นสายตา (ดู unnoticed factor)
One thought on “induction”