I.Q. and goodness ไอคิวกับการทำดี
ผู้แต่ง : ปราโมท หม่อมศิลา
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
ภูมิปัญญาหรือระดับความฉลาด (I.Q) ของแต่ละบุคคล ก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับความประพฤติดีหรือเลวอยู่เหมือนกัน เพราะความประพฤติดีหรือเลว ต้องการความสำนึกและการตัดสินใจ ผู้มีปัญญาอ่อนถึงขั้นไม่สามารถสำนึกถึงการควรหรือไม่ควรของการกระทำเลยแม้จะมีการตัดสินใจเหมือนสัตว์ต่าง ๆ คือ ตัดสินใจทำตามแรงกระตุ้นของสัญชาตญาณและฮอร์โมน คนชนิดนี้จะมีแต่พฤติกรรมไม่มีความประพฤติ แม้ชาวบ้านจะเรียกตามภาษาชาวบ้านว่า ความประพฤติ ก็หาใช่ความประพฤติในวิชาจริยศาสตร์ไม่ ไม่อยู่ในส่วนของการตัดสินทางจริยะว่าประพฤติดีหรือประพฤติเลว เขาจึงไม่เป็นคนดีและไม่เป็นคนเลวไม่มีทั้งความดีและความชั่ว เป็นคนที่บกพร่องเพราะไร้มโนธรรม
ผู้ที่ปัญญาอ่อนไม่มากนัก จะสามารถสำนึกทางจริยะได้ และสามารถเลือกการกระทำของตนเองได้ เขาจึงอาจจะมีความประพฤติดีหรือเลวได้ตามระดับการตัดสินใจของเขา เขาจะไม่เป็นคนดีหรือคนเลวมากนัก เพราะเขามีความสำนึกทางจริยะได้แต่เพียงเล็กน้อยหากจะมีอยู่บ้าง
ผู้มีปัญญาปราดเปรื่องเท่านั้นจึงจะเป็นอัจฉริยบุคคลได้อย่างพระพุทธเจ้า หรือเป็นคนเลวได้อย่างเทวทัต และผู้ที่จะตัดใจพลิกประวัติตัวเองได้อย่างองคุลิมาลก็ต้องมีภูมิปัญญาสูงเช่นกัน เพราะภูมิปัญญาสูงย่อมหมายถึงกำลังใจแข็งแกร่งด้วย ผู้มีภูมิปัญญาต่ำย่อมมีกำลังใจอ่อนแอ รวนเรควบคู่กันไป จึงสรุปได้ว่าระดับภูมิปัญญามีอิทธิพลต่อความสามารถมากน้อยในการประพฤติดีหรือประพฤติเลวด้วย
การศึกษาสามารถเพิ่มภูมิปัญญา ดังนั้น การศึกษาจึงมีความสัมพันธ์กับจริยศาสตร์ในหัวข้อเดียวกันนี้ นั่นคือ การศึกษาที่ถูกต้องสามารถทำให้คนเราประพฤติตัวดีขึ้น ส่วนการศึกษาที่ไม่ถูกต้องสามารถทำให้คนเราประพฤติตัวเลวลงกว่าเดิม จึงมีคี่กล่าวกันว่า “คนอย่างนี้ไม่มีการศึกษาเสียยังจะดีกว่า” เพราะถ้ามีความรู้น้อยเขาจะสามารถทำผิดได้แต่น้อยเท่านั้น