Hume on knowing ฮิวม์กับการรู้
ผู้แต่ง : กันต์สินี สมิตพันธ์
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
อวกาศ (space) และเวลา(time) เป็นแง่พิจารณา (manner) ของภาพประทับคือ ถ้าภาพประทับคู่เคียงกันเราก็ได้อวกาศ ถ้าเรียงลำดับกันก่อนหลังเราก็ได้เวลา อวกาศและเวลาจึงไม่สามารถแบ่งออกได้เรื่อยไปอย่างไม่รู้จบ เพราะถ้าแบ่งเล็กเกินขนาดเล็กสุด (minimum) เราก็ขาดภาพประทับ จึงไม่อาจมีจริง
ความมีอยู่ (existence) เราไม่สามารถเข้าใจได้ เพราะไม่มีภาพประทับของความมีอยู่ มีก็แต่ภาพประทับของสิ่งที่มีอยู่ เราจึงเข้าใจแต่สิ่งที่มีอยู่ แต่ไม่เข้าใจความมีอยู่อย่างลอย ๆ เพราะฉะนั้นอภิปรัชญาจึงเป็นเรื่องไร้สาระ
ความรู้ (knowledge) คือ ความสัมพันธ์ระหว่างมโนคติ ต่างกันกับความน่าจะเป็น ซึ่งเป็นเรื่องของข้อเท็จจริง
ความจริงของความรู้จึงอยู่ที่ว่า เมื่อมีมโนคติขึ้นมาสองหน่วย และเราเห็นความสัมพันธ์ระหว่างสองมโนคตินี้ ความสัมพันธ์จะต้องแน่นอนเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ถ้าจะเปลี่ยนก็ต้องเปลี่ยนมโนคติเสียก่อน ต้องอย่างนี้จึงได้ความจริง ส่วนความน่าจะเป็นไม่มีอะไรผูกมัด จะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ได้ ไม่มีความจริงหรือความเท็จ บอกเพียงให้รู้ว่ามีอะไรเท่านั้น
ความรู้หรือความสัมพันธ์ระหว่างมโนคติอาจจะได้มาด้วยสองวิธี คือ โดยการหยั่งรู้ (intuition) และโดยการพิสูจน์ (demonstration) คือ เมื่อเกิดสองมโนคติขึ้นเราอาจจะเห็นความสัมพันธ์ได้ทันที เช่น องค์รวม (the whole) ย่อมใหญ่กว่าส่วนหนึ่งของมัน (its part) หรือเราอาจจะต้องการความจริงอื่นที่ง่ายกว่ามาสนับสนุน เช่น ทฤษฎีต่าง ๆ ของเรขาคณิตยูคลิด
ส่วนความน่าจะเป็นก็อาจได้มาด้วยสองวิธี คือ โดยการสังเกต (observation) และการอนุมาน (inference) การอนุมานตั้งอยู่บนฐานความเชื่อกฎเหตุผลซึ่งไม่แน่นอน ผลสรุปจึงไม่เป็นความรู้ ฮิวม์ถือว่าความเป็นสาเหตุก็ดี การเป็นตัวเองก็ดี และอวกาศ-เวลาก็ดี เป็นเรื่องของข้อเท็จจริงที่น่าจะเป็น เพราะไม่มีใครเคยมีประสบการณ์โดยตรง